กรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น หลังมีฝนตกชุกในพื้นที่ตอนบน

  • คาดมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 850-1,000 ลบ.ม./วินาที
  • พร้อมบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ
  • ลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า  ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2565 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2565 จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักและหนักมาก บริเวณลุ่มน้ำน่านและลำน้ำสาขา รวมถึงแม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำป่าสัก กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ที่สถานี C.2 อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 900 – 1,000 ลบ.ม./วินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะเเกกรัง ที่สถานี Ct.19 จะมีปริมาณไหลผ่าน 150 ลบ.ม./วินาที ก่อนจะไหลมารวมกันลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ในเกณฑ์ประมาณ 1,050 – 1,150 ลบ.ม./วินาที 

จากสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทาน มีความจำเป็น ต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราระหว่าง 850 – 1,000 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 0.80 เมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน จึงได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา(อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในระยะนี้