กรมชลประทานตื่น!เร่งทำแผนป้องน้ำท่วม จ.อุบลฯ หวั่นซ้ำรอยปี 62

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 6 และ 7 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่างเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากฤดูฝนปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นปลายทางการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง โดยปีที่ผ่านมามีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันจนเกิดน้ำท่วมขังสูงเป็นวงกว้าง จึงให้สำนักงานชลประทานทั้ง 2 แห่งตรวจสอบพนังกั้นน้ำในลำน้ำสายหลักและอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ที่สำคัญ คือ ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำนักงานชลประทานที่ 7 เพื่อเป็นศูนย์บัญชาการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที

สำหรับสำนักงานชลประทานที่ 6 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด และเป็นต้นแม่น้ำชี ส่วนสำนักงานชลประทานที่ 7 มีพื้นที่รับผิดชอบ 5 จังหวัดประกอบด้วย อุบลราชธานี มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร และนครพนม มีแม่น้ำชีตอนปลายไหลผ่านไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้น ในช่วงฤดูฝนนี้จึงจำเป็นต้องจัดการจราจรน้ำเพื่อไม่ให้น้ำจากแม่น้ำชีไหลลงมาสู่แม่น้ำมูลในห้วงที่แม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำมาก โดยใช้เขื่อนที่กั้นแม่น้ำชีและมูลเป็นเครื่องมือควบคุม ได้แก่ เขื่อนมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เขื่อนวังยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร และเขื่อนธาตุน้อย จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนลำน้ำมูลต้องบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำในจังหวัดนครราชสีมา มีเขื่อนที่ใช้เป็นเครื่องมือควบคุมได้แก่ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแชะ จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา จังหวัดศรีษะเกษ และท้ายสุดคือ เขื่อนปากมูล โดยน้ำจากแม่น้ำมูลจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ 3 เขื่อนในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ยังมีศักยภาพในการรับน้ำได้มากกว่า 70 % ของความจุอ่าง อีกทั้งจะประสานกับสำนักงานชลประทานที่ 7 หากน้ำในลำน้ำมูลมีปริมาณมากจะลดบานระบายของเขื่อนที่กั้นลำน้ำชี เพื่อหน่วงน้ำไม่ให้น้ำปริมาณมากไหลไปบรรจบในเวลาเดียวกัน

ด้านนายอิสรา เทียนศรี ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 7 กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำมูลในฤดูน้ำหลากจะต้องพิจารณาว่าช่วงใดสมควรต้องลดบานระบายเขื่อน เพื่อหน่วงน้ำไม่ให้ไหลมาบรรจบกับน้ำปริมาณมากจากลำน้ำชีและช่วงใดสมควรต้องยกบานระบาย เพื่อเร่งให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีการเตรียมพร้อมด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยง กำหนดผู้รับผิดชอบชัดเจน และกำหนดเครื่องมือที่ใช้จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก สามารถป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ