“กรมควบคุมโรค” แนะอากาศร้อน..ทานอะไรความเน้น “สุก ร้อน สะอาด” ป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ

Man suffering from stomach ache because he has diarrhea
  • หลังพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ
  • แนะการปรุง การเก็บอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาด ปราศจากการปนเปื้อน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ถึงสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษในปีนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-11 พ.ค. 63 พบมีรายงานผู้ป่วยแล้ว 29,253 ราย โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมากลุ่มอายุมากกว่า 65 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ สมุทรสงคราม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี มุกดาหาร และอำนาจเจริญ ตามลำดับ 

ทั้งนี้ในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อน จำนวน 45 ราย ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนเพิ่มอีก 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และล่าสุดที่ขอนแก่น 

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ทางกรมฯคาดว่ามีโอกาสพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นจึงควรระมัดระวังในการรับประทานอาหารอยู่เสมอ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก หรือไม่ผ่านความร้อน รวมถึงอาหารที่บูดเสียง่าย เช่น อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น  

โดยทางกรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า การปรุง การเก็บอาหาร ต้องคำนึงถึงความสะอาด ปลอดโรค ปลอดภัย ปราศจากการปนเปื้อน และขอให้ประชาชนยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ด้วยความร้อน ไม่มีแมลงวันตอม ก่อนหยิบจับอาหารควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และเก็บถนอมอาหารอย่างถูกวิธี โดยในส่วนอาหารที่ปรุงประกอบไว้นานแล้ว ขอให้สำรวจอาหารก่อน หากมีกลิ่น รส หรือรูปเปลี่ยนไป ไม่ควรรับประทานต่อ ส่วนอาหารที่กลิ่น รส หรือรูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน 

ทั้งนี้โดยผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมากๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422