กรมการแพทย์ เผยแพร่ข้อมูลวิชาการและผลการดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์

  • ต้องมีการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์
  • เพื่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทย
  • เพราะไม่มีบริษัทยารายใดมาวิจัยเรื่องนี้

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายกัญชาทางการแพทย์พื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย กรมการแพทย์เป็นหน่วยงานหลักการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ให้ได้ข้อมูลเชิงประจักษ์ที่เชื่อถือได้ เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนผู้ป่วยและครอบครัวมีความเชื่อมั่นในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สำหรับในปีงบประมาณ 2566 กรมการแพทย์ได้ดำเนินการวิจัยกัญชาทางการแพทย์ ได้แก่ การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดกัญชาต่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย ส่วนงานวิจัยที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้แก่ การศึกษาวิจัยในกลุ่มโรคมะเร็ง/ผู้ป่วยแบบประคับประคอง กลุ่มโรคผิวหนัง กลุ่มโรคทางระบบประสาท และผลิตภัณฑ์จากกัญชา (อาหารเสริม/เครื่องสำอาง)

 หน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์มีการนำสารสกัดกัญชามาศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ดังนี้ การศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีการใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง ในการลดการเกร็ง ซึ่งสถาบันประสาทวิทยากำลังดำเนินการวิจัยอยู่โดยเบื้องต้นมีผู้เข้าร่วมวิจัย 21 คน ใช้สารสกัดกัญชา CBD สูง เป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า คุณภาพชีวิตดีขึ้น นอกจากนี้ ผลการวิจัยการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรืออักเสบ (MS)  ด้วย THC ต่อ CBD 1 ต่อ 1 ซึ่งตีพิมพ์วารสารวิชาการไปแล้วว่า มีประโยชน์ ช่วยลดอาการเจ็บ ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทำให้กำลังเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรบัญชี 1

สถาบันมะเร็งแห่งชาติมี 2 ส่วน คือ 1.การดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง 2.การใช้รักษาตัวโรคมะเร็ง โดยการดูแลผู้ป่วยมะเร็งแบบประคับประคอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ลดอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการรักษา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ได้มุ่งผลการรักษาต่อก้อนมะเร็งโดยตรง ซึ่งสถาบันมะเร็งมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ เป็นการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยผู้ป่วยมะเร็งประคับประคองคุณภาพชีวิตดีขึ้น 58% ส่วนการรักษาต่อโรคมะเร็ง อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ในหลอดทดลองกับสารสกัดกัญชาโดยพบว่ายับยั้งได้ดีในเซลล์มะเร็ง 3 ชนิด คือ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งเต้านม จึงมีการนำมาศึกษาต่อโดยปลูกถ่ายในหนูทดลองและทำการทดลองตามมาตรฐาน ทั้งกลุ่มยาหลอก เทียบกับยาเคมีบำบัดในปัจจุบัน และเทียบกับกัญชาในขนาดต่ำ ขนาดกลาง และขนาดสูง ผลที่ได้คือ สารสกัดกัญชาสามารถลดการเพิ่มของจำนวนเซลล์มะเร็ง และเพิ่มการตายแบบ Apoptosis หรือการตายไม่อันตรายต่อตัวคน ได้ผลดีต่อเซลล์มะเร็งเต้านมและไม่มีผลข้างเคียงต่ออาหาร น้ำหนักตัว หรือเลือด นับว่าเป็นก้าวสำคัญที่หลังจากนี้ จะสามารถแปลงขนาดยาไปสู่การทดลองวิจัยทางคลินิก หรือในมนุษย์ต่อไปตามมาตรฐานทางการแพทย์

สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติความชุกการใช้ยาเสพติด ยังพบมากคือ ยาบ้า ซึ่งสบยช. มีการศึกษาวิจัยนำสารสกัด CBD มาใช้ในการบำบัดรักษาและลดอันตรายในผู้ป่วยยาบ้า ที่มีอาการทางจิต และมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง (SMI-V) โดยเป็นการวิจัยนำสารสกัด CBD ชนิดหยอดใต้ลิ้น มาใช้ร่วมกับยาต้านอาการทางจิตเวช เพื่อช่วยลดอาการทางจิตและลดพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง  แบ่งการทดลอง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มใช้ยาจิตเวชร่วมกับสารสกัดกัญชา และกลุ่มที่ใช้ยาจิตเวชร่วมกับยาหลอก โดยจะวัดผลการรักษา ทั้งอาการทางเจิตเวช ระหว่างรักษา อาการอยากยาระหว่างรักษา พฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง และการเสพซ้ำ ต้องมีการติดตามต่อไป

 นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาสารสกัดกัญชาเปรียบเทียบกับยาทดแทน (Methylphenidate) เพื่อลดอาการถอนยา และอาการอยากยา โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบกันเรื่องอาการถอนยา อาการอยากยา และติดตามต่อไปในเรื่องการไปเสพซ้ำ หากได้ผลแล้วจะนำไปวิจัยต่อยอดในการนำสารสกัดกัญชา CBD มาใช้ทดแทนเมทแอมเฟตามีนตามแนวทางลดอันตรายจากการใช้ยา เพราะเห็นฤทธิ์ CBD ซึ่งไม่ใช่ยาเสพติด แต่ช่วยผ่อนคลาย ซึ่งคนไข้ใช้ยาบ้าจะมีอาการทางระบบประสาท อย่างไรก็ตาม การใช้ตรงนี้ต้องมีผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้ตามหลักอย่างถูกต้อง

สถาบันโรคผิวหนัง ได้ศึกษาการใช้สาร CBD พบว่ามีสรรพคุณเด่น 3 ด้าน คือ 1. ฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ  2. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ  และ 3. ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน ซึ่งสถาบันฯ กำหนดการรักษา 2 ด้าน คือ รักษาโรคผิวหนัง และเวชสำอาง โดยการรักษาโรคผิวหนัง มีการศึกษาวิจัยอยู่ 4 โรค  คือ โรคสะเก็ดเงิน  โรคผิวหนังอักเสบ ผมร่วง โดยเฉพาะผมร่วงเป็นวง และสิว ซึ่งเกี่ยวกับการอักเสบค่อนข้างเยอะ โดยขณะนี้กำลังศึกษาวิจัย คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากวิจัยในฐานะแพทย์แผนปัจจุบัน จึงใช้ขั้นตอนมากในเรื่องของเวชสำอางนั้น  ทางสถาบันโรคผิวหนัง  ได้ค้นคว้าวิจัยสูตรเวชสำอางต้นแบบมาแล้ว 18 สูตรตำรับในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งมีการพัฒนาปรับระดับการใช้เทคโนโลยีให้สูงขึ้น  ซึ่งเราเห็นฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammation)   ที่ได้ผลและใช้โดสค่อนข้างน้อยนอกจากนี้ ยังมีการใช้นาโนเทคโนโลยี (Nanoencapsulation) เข้ามาช่วยในการละลายความคงตัวของตำรับพร้อมที่จะถ่ายทอดให้ภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับไปสู่ Medical and Wellness Service ครบวงจร

โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ได้เปิด “ศูนย์ห้องปฏิบัติการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา” ซึ่งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานห้องปฏิบัติการพิษวิทยา โดยสภาเทคนิคการแพทย์แล้ว และเข้าร่วมทดสอบระหว่างห้องปฏิบัติการ(Inter-laboratory Comparison) สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   ปัจจุบันมีเครื่องตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์กัญชา ได้แก่ High Performance Liquid Chromatography (HPLC) สามารถตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญในน้ำมันกัญชา (Potency) 11 ชนิด และ เครื่องมือที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ GC-MS/MS (SHIMADZU) สามารถตรวจวิเคราะห์หาสาร Terpenes ในน้ำมันกัญชา 28 ชนิด ปัจจุบันผู้ใช้บริการตรวจ Potency และ Terpene ได้แก่ สถาปันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตว์การแพทย์ และโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี

สิ่งสำคัญที่ต้องมีการศึกษาวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ คือ เพื่อความมั่นคงทางยาของประเทศไทย เพราะไม่มีบริษัทยารายใดมาวิจัยเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อสกัด CBD ออกมา ไม่มีลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานวิจัยของประเทศต้องศึกษาเรื่องนี้ “กัญชาทางการแพทย์” ถ้าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันทำความรู้ ความเข้าใจ และนำไปใช้อย่างถูกวิธี ก็จะเกิดประโยชน์มหาศาลทั้งด้านการรักษาทางการแพทย์ ตลอดจนด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต