กรมการแทพย์ เผย “ผ้าสปันบอนด์” ในหน้ากากอนามัย ยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง

  • ไม่ควรตื่นตระหนก
  • ยังไม่มีรายงานวิชาการที่ยืนยันแน่ชั

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลหน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ ที่เป็น “Polypropylene (PP) นั้นซึ่งมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่าไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกาย มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลว่า หน้ากากอนามัยผลิตจากใยสังเคราะห์ประเภทเดียวกันกับผ้าสปันบอนด์ ซึ่งทำมาจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene

จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer; IARC) ระบุว่าพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ หรืออยู่ในกลุ่ม 3 ดังนั้น ปัจจุบันการใช้หน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์ จึงยังไม่มีข้อมูลว่าทำให้เกิดโรคมะเร็ง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า พลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่นำมาใช้ผลิตผ้าสปันบอนด์ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไปทำให้เกิดความกังวลว่าพลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันแน่ชัดถึงไมโครพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้วก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยจากใยสังเคราะห์สปันบอนด์

ทั้งนี้เพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบาย  “ผ้าสปันบอนด์”​ (spunbond) เป็นผ้าที่เกิดจากการอัดขึ้นรูป จากเส้นใยพลาสติกจำพวกโพลีพรอไพรีนโดยตรง ต่างจากการทอผ้าทั่วไปที่เอาเส้นใยสังเคราะห์มาเป็นเส้นด้ายสำหรับถักทอ และ ผ้าสปันบอนด์ มันก็ใช้เป็นองค์ประกอบปรกติมาตรฐาน ของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์อยู่แล้ว

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่เราใช้กัน จะผลิตจากผ้าใยสังเคราะห์ 3 ชั้น มีคุณสมบัติในการกรองฝุ่น ป้องกันของเหลวซึมผ่าน และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากการไอหรือจาม ซึ่งผ้าใยสังเคราะห์ทั้ง 3 ชั้น จะผลิตจากวัสดุต่างกัน ดังนี้

  • ชั้นนอก ทำจากวัสดุผ้าสปันบอนด์โพลีพรอไพลีนสังเคราะห์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่ยอมให้อากาศผ่านเข้าออก และไม่ดูดซึมน้ำ มีความหนาตั้งแต่ 14-20 กรัม
  • ชั้นกลาง ทำจากแผ่นกรองที่เรียกว่า Melt Blown Filter ซึ่งมีความหนาตั้งแต่ 20-25 กรัม (แผ่นกรองนี้ ยิ่งหนา ยิ่งมีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคที่ดีกว่า)
  • ชั้นใน ทำมาจากวัสดุผ้าสปันบอนด์โพลีพรอไพลีน เช่นเดียวกันกับชั้นนอก แต่จะมีความหนาตั้งแต่ 20-25 กรัม