กรมการพัฒนาชุมชน เปิดหลักสูตรยกมาตรฐานโอทอปไทย สู่สินค้าพรีเมี่ยมตีตลาดโลก

  • ติวเข้มผู้ผลิตโอทอป กลุ่มของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก 475 รายทั่วประเทศ
  • ยกระดับเป็นสินค้าพรีเมี่ยม สร้างแบรนด์พร้อมจับคู่ธุรกิจ
  • เปิดช่องทางโกยเงิน ทั้งในและตลาดต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก

นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ผู้แทนกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนเปิดโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP จากการขาดองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์ และ การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ อย่างครบวงจร ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม่โด่นเด่นและสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ รวมทั้งมีปัญหาการพัฒนาสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้จำหน่ายสินค้าได้ในปริมาณน้อย หรือไม่ได้เลย หรือจำหน่ายได้ในราคาต่ำส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเปิดให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP กลุ่มของใช้  ของตกแต่ง ของที่ระลึก จำนวน 475 ราย ทั่วประเทศ เข้ารับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การสร้างตราสินค้าและด้านการตลาด ภายใต้แนวคิดหลักการตลาดนำการผลิต “ดูดีมีสไตล์”  ทั้งสิ้น 14 หลักสูตร ในรูปแบบบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ (E -Learning) บนระบบออนไลน์ของ Line Official Account : Tamdeemark  ซึ่งสามารถกลับมาดูซ้ำเพื่อทำความเข้าใจได้ตลอดเวลา และสามารถขอรับคำปรึกษาผ่านระบบดังกล่าวได้ นอกจากนั้นการอบรมจะมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีทำหน้าที่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ 1 ท่านรับผิดชอบผู้ประกอบการจำนวน 15-20 ราย โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 150 วัน

“กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP มีความสำคัญต่อรากฐานทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน เห็นปัญหาของกลุ่มนี้โดยเฉพาะการปรับตัวสู่การพัฒนาหรือ Quadrant D ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการ เพราะได้รวมผู้เชี่ยวชาญจริงมาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์โดยตรงที่หาจากที่ไหนไม่ได้ ภายใต้แนวคิดการอบรมที่ยึดหลักการตลาดนำการผลิต และสิ่งที่สำคัญคือการที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ได้จริง”  

สำหรับหัวข้อของการอบรมตามโครงการดังกล่าวถูกออกแบบให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของการบริโภค สังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญนำไปปรับใช้ได้จริงกับผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ถ่ายทอดจากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา โดยแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลักคือ ด้านการตลาด ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการขาย 

การอบรมด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น หัวข้อ พลิกโฉมเพิ่มแนวคิด เปลี่ยนชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ขายดีมีกำไร ต่อยอดวัตถุดิบชุมชนและตอบโจทย์คนยุคใหม่ และหัวข้อ ต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ด้วยการตลาดนำการผลิตการอบรมด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และการขาย เช่น หัวข้อ สร้างตัวตนให้อยู่บนบรรจุภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์สวย ก็รวยแล้ว และบรรจุภัณฑ์ยุคใหม่โดนใจลูกค้า สำหรับการอบรมในด้านการตลาด ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ เช่น หัวข้อ  ยุคโควิดค้าขายแบบไหนให้รุ่ง ชี้ช่องรวยด้วยออนไลน์ แปลงร่างสร้างแบรนด์ และปั้นยอดขายด้วยภาพถ่ายสุดปัง

นายวรงค์ กล่าวว่า การอบรมตามโครงการดังกล่าว ยังออกแบบให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฎิบัติงานจริงผ่านการพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบ โดยจะคัดเลือกจากสินค้าที่มีการพัฒนาจนโดดเด่นทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์จำนวน 48 รายการจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด เพื่อนำไปสู่กิจกรรมทดสอบตลาดจริง โดยการจัดแสดงและจัดจำหน่ายในศูนย์การค้าชั้นนำระดับประเทศ ในธีม “มีดีมาร์เก็ต” และในจำนวนสินค้าดังกล่าว กรมการพัฒนาชุมชนจะคัดเลือกให้เหลือ 10 รายการเพื่อมอบรางวัลสุดยอดผลิตภัณฑ์ Queen of D พร้อมจัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดจำหน่ายในช่องทางที่หลากหลายเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบหน้าร้านและช่องทางการตลาดออนไลน์อีกด้วย

อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านการอบรม ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้ ไปพัฒนาศักยภาพคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจรได้จริง จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมให้มีมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ระบบตลาด และ มีความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดภายในและต่างประเทศได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เสริมสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเศรษฐกิจหลักของประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจโดยตรงของกรมการพัฒนาชุมชน