กรมการค้าภายในเดินหน้าแผนบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก

.รองรับผลผลิต 6.78 ล้านตัน เพิ่ม 3% จากปี 65
.เชื่อมโยงผู้ซื้อ-ผู้ขาย กระจายผลผลิตสู่ผู้บริโภค
.มั่นใจปี 66 เป็นอีกปีทองของผลไม้ไทยแน่นอน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมเตรียมเดินหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุก ปี 66 ในส่วนที่รับผิดชอบ หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 66 แบบเชิงรุก รวม 22 มาตรการ ซึ่งมีมาตรการที่กรมรับผิดชอบเกินครึ่ง และขณะนี้ ได้เตรียมความพร้อมดำเนินการไว้หมดแล้ว และสามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อผลไม้ออกสู่ตลาด รองรับผลผลิตที่คาดว่าปีนี้ จะออกสู่ตลาดมากถึง 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปี 65 โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายรองรับผลผลิตล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัน


“มั่นใจว่า ปีนี้ ยังคงเป็นอีกปีทองของผลไม้ไทย จากปี 65 ที่การส่งออกผลไม้สร้างรายได้เข้าประเทศหลายแสนล้านบาท ส่วนปัญหาภัยแล้ง ที่อาจกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรนั้น เชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือได้แน่นอน”


สำหรับมาตรการที่กรม จะนำมาใช้ในการดำเนินการ คือ “อมก๋อย โมเดล” ซึ่งประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยการเชื่อมโยงให้ผู้ซื้อ ทั้งผู้ประกอบการ ห้าง ผู้ผลิต มาพบกับเกษตรกร และตกลงซื้อขาย มีเป้าหมายที่ 100,000 ตัน แบ่งเป็น กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต 90,000 ตัน โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือเกษตรกรกิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท และสนับสนุนให้รถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรงในช่วงที่ผลไม้ออกมาก 30,000 ตัน


นอกจากนี้ จะประสานงานกับห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ 100,000 ตัน และจัดรณรงค์บริโภคผลไม้ไทย งาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการโหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบิน ฟรี 20 กก. ปริมาณรวม 42,000 ตัน


ขณะเดียวกัน จะช่วยสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้ พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภค ผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวม 300,000 กล่องเท่ากับปี 65 และช่วยอบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในเรื่องการค้าออนไลน์ เพื่อขายตรงให้ผู้บริโภค รวมถึงหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้น ตั้งเป้าอย่างน้อย 2,500 ราย


ส่วนมาตรการที่เคยเป็นมาตรการเสริม ปีนี้จะใช้เป็นมาตรการหลัก คือ ส่งเสริมการแปรรูป ช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูป ซึ่งปีที่แล้ว ลำไยมีปัญหาตลาดจีน และเวียดนามซบเซา เลยนำมาอบแห้ง และดึงปั๊มน้ำมันซื้อไปแจกให้ผู้เติมน้ำมัน และทุเรียน ก็นำไปแปรรูปแช่แข็ง แล้วนำไปจำหน่ายผ่านตู้แช่ที่สถานีรถไฟฟ้า แก้ทั้งปัญหาทุเรียนล้นตลาด และช่วยให้ผู้บริโภคได้บริโภคทุเรียนคุณภาพ พร้อมกันนั้น จะเปิดให้สั่งจองล่วงหน้า (พรี ออเดอร์) โดยดึงนิคมอุตสาหกรรม 60 แห่ง มีโรงงานในนิยมกว่า 30,000 แห่ง มาช่วยซื้อ เป้าหมาย 15,000 ตัน


สำหรับมาตรการอื่น ๆ กรมจะเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินการ เช่น เชื่อมโยงผลไม้โดยเซลส์แมนจังหวัด (พาณิชย์จังหวัด) และเซลส์แมนประเทศ (ทูตพาณิชย์) ในการระบายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ การช่วยสภาพคล่องผู้ส่งออก ช่วยดอกเบี้ย 3% และช่วยส่งออกกก.ละ 4 บาท เป้าหมาย 100,000 ตัน การเข้าร่วมในคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ ที่จะมีวอร์รูมภาครัฐและเอกชน ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาส่งออกผลไม้ และการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกร ผู้บริโภค เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ, พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด, พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ