กยศ. ชี้ยอดจ่ายหนี้ผู้กู้ยืมมีแนวโน้มลดลง เหตุรอความชัดเจนกฎหมายใหม่สะเด็ดน้ำ

  • ลั่นมั่นใจได้ กองทุนฯยังมีเงินหมุนเวียนเพียงพอต่อการปล่อยนักศึกษาอยู่
  • ชี้ปัจจุบันกองทุนฯ มีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท
  • เผย กยศ. ให้โอกาสทางการศึกษาไปแล้วกว่า 6.4 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 7 แสนล้านบาท

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดการชำระหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีแนวโน้มปรับลดลง หลังจากมีการพิจารณาแก้กฎหมายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยส่งผลทำให้ผู้ชำระเงินเกิดความลังเล เนื่องจากรอความชัดเจนของกฎหมาย ซึ่งตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.- 30 พ.ย.65 พบว่า ยอดการชำระหนี้ในส่วนของผู้ที่สมัครใจลดลงไป 28% เหลือเพียงแค่ 2,075 ล้านบาท 

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ไม่ได้มีความกังวลจากยอดชำระหนี้ที่ลดลง เนื่องจากกฎหมายเริ่มมีความชัดเจนแล้ว ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างรอการบรรจุวาระเข้าสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งหากเห็นชอบก็สามารถนำมาประกาศบังคับใช้ได้ แต่หากไม่ได้เห็นชอบก็จะต้องมีการนำเข้าสู่การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อหาข้อยุติในประเด็นที่มีความเห็นต่างกันอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กยศ. ก็มีเงินกองทุนในระดับสูง เพียงพอต่อการปล่อยกู้ให้นักเรียนนักศึกษาอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ มีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 30,000-40,000  ล้านบาท อีกทั้งในปีที่ผ่านมา ผู้กู้ยืมได้มีการชำระคืนเพิ่มขึ้นมาอีก 28,000 ล้านบาท ซึ่งก็เพียงพอต่อการปล่อยกู้ อย่างไรก็ตามโดยเฉลี่ยแต่ละปี กยศ. จะมีการใช้เงินในการปล่อยกู้อยู่ที่ 30,0000-40,000 ล้านบาท

“ส่วนตัวเชื่อว่า หากกฎหมายมีความชัดเจน ผู้กู้ก็จะกลับมาชำระได้ปกติ เพราะปัจจุบัน กยศ. ก็คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีมาตรการลดดอกเบี้ยปรับให้สำหรับผู้กู้ที่มีการชำระหนี้ดี มีวินัยดี หรือผู้กู้ที่ต้องการปิดยอดหนี้”  นายกฤษฎา กล่าว

ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์

ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กยศ. ได้ให้โอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 700,000 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา มีจำนวนนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกว่า 600,000 คน มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง 

อย่างไรก็ตาม จากการที่กองทุนฯ ได้เปิดเผยรายชื่อสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกของประเทศ จากสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 313 แห่ง วันนี้ทางกองทุนฯ จึงได้จัดพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานศึกษา 25 แห่งดังกล่าว เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่สถานศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมของผู้กู้ยืม บ่มเพาะผู้กู้ยืมให้มีวินัยทางการเงิน ตลอดจนมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการชำระหนี้กองทุน

โดยจัดอันดับรายชื่อสถานศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยพะเยา 

2. มหาวิทยาลัยศิลปากร

3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 

4. มหาวิทยาลัยนเรศวร

5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

7. มหาวิทยาลัยมหิดล 

8. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี    

14. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

15. มหาวิทยาลัยบูรพา 

16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์

17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 

20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 

22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 

24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน