กมธ.กัญชา-กัญชง แนะสื่อมวลชนระวังการเสนอข่าว อย่าบิดเบือนข้อเท็จจริงในการใช้กัญชา

  • ย้ำ!เจตนารมณ์ยังคงเดิม
  • ดันร่างกฎหมายคุ้มครองเยาวชน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ…. พร้อมด้วยนายเเพทย์ เทวัญ ธานีรัตน์ เลขานุการกมธ.ฯ นายอภิวัฒน์ จ่าตา ที่ปรึกษากมธ.ฯ ร่วมแถลงความคืบหน้า ในการประชุมของร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยประการแรก คือ กรรมาธิการมีความห่วงใยเยาวชน และเด็กนักเรียนในเรื่องของการเข้าถึงกัญชา และยังคงเจตนารมณ์เดิม ดังนั้นจะร่างกฎหมายในการคุ้มครองเยาวชนอยู่เช่นเดิม 

ประการที่ 2 ข้อห่วงใยในการนำเสนอข่าวในช่วงหลัง ต้องการให้สื่อมวลชน และประชาชนช่วยกันตรวจสอบเพราะว่าในระหว่างการรวบรวมผลกระทบ ทั้งด้านบวก และข้อควรระวังนั้น จำเป็นจะต้องอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ดังเช่น ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตแต่มีการลงข่าวว่ามาจากกัญชา แต่เมื่อตรวจเลือดแล้วไม่พบสาร THC ซึ่งเป็นสารที่มาจากกัญชาหรือแม้กระทั่งการอาศัยช่องว่างสุญญากาศในช่วงนี้กล่าวโทษกัญชา เพราะเห็นว่าจะไม่เป็นยาเสพติด ทั้งๆ ที่มีการเสพยาชนิดอื่น  

“แม้จะใช้กัญชา แต่ก็มีการใช้ยาชนิดอื่น อาจจะทำให้การแปรผลในการนำเสนอข่าวนั้น ได้ถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ซึ่งผมคิดว่าทุกส่วนจำเป็นจะต้องช่วยกันตรวจสอบ และนำเสนอข้อเท็จจริงในการทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ”

ประการที่ 3 วันนี้ทางกรรมาธิการฯ ได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อมาให้ความเห็น และข้อชี้แนะ รวมถึงแลกเปลี่ยนทัศนะที่ต้องมีการชี้แจงต่อคณะกรรมการระหว่างประเทศ หรือคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ว่า ประเทศไทยมีแนวปฏิบัติอย่างไรในการดูแลเรื่องปัญหายาเสพติดในประเทศ รวมถึงมาตรการในการปลดล็อกกัญชา 

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า กมธ.ได้ดำเนินรอยตามรูปแบบต่างประเทศในการดูแลพี่น้องประชาชน ในการใช้กัญชาอย่างเหมาะสม สำหรับบริบทประเทศไทย มีทั้งการแพทย์แผนไทย อาหารไทย วัฒนธรรม รวมถึงการดูแลลดปัญหายาเสพติดจากการใช้กัญชาจากภูมิปัญญาในอดีต ซึ่งมีความแตกต่างจากบริบทในหลายประเทศ รวมถึงบริบทช่วงเปลี่ยนผ่านสุญญากาศช่วงนี้ ที่หลายคนห่วงใยว่าจะเข้าข่ายการละเมิดอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือไม่ทางกรรมาธิการฯ ได้มีการพูดคุยเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งประเทศไทยในช่วงสุญญากาศในการขึ้นทะเบียนนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ใช้กัญชาใต้ดินเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถเปลี่ยนผ่านได้อย่างเรียบร้อย ไม่เกิดปัญหาจากประการใด 

นอกจากนั้น กรรมาธิการฯ ได้มีการพิจารณามาตราสำคัญ และเห็นพ้องต้องกันในเรื่องของการบรรจุคุณสมบัติผู้ขออนุญาต ในการที่จะเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจกัญชา กฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมทั้งการอนุญาตในการจำหน่าย ผลิตนำเข้า ส่งออก หรือขาย เพื่อทำธุรกิจ โดยมีคุณสมบัติที่ง่ายต่อการเข้าถึงสำหรับบุคคลธรรมดาดังนี้ เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตคนไร้ความสามารถ หรือคนเหมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นผู้ที่ละเมิดของกฎหมายพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างการถูกพักใช้ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตที่ยังไม่ครบกำหนด ออกโดยตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือวัตถุออกฤทธิ์ทางจิตประสาท 

ทั้งนี้ ทางกรรมาธิการฯ เห็นว่า ยังต้องกำหนดคุณสมบัติสำหรับผู้ที่จะมาทำธุรกิจกัญชาในฐานะบุคคลธรรมดาว่า จะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก ในเรื่องความผิดเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ยกเว้น จะมีบทเฉพาะการความผิดเกี่ยวข้องกับกัญชา กัญชงในอดีต และกระท่อมด้วย ในขณะเดียวกันจะมีกระบวนการเปิดช่องให้กับผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับการเสพยาเสพติด หรือกระทำความผิดเหล่านี้ได้กลับมาเป็นพลเมืองดีหากมีการพ้นโทษไปแล้ว 2 ปี สามารถกลับมาได้

ทั้งนี้สำหรับนิติบุคคล ได้มีการเห็นชอบในหลักการแล้ว คือจะมีลักษณะตามบุคคลธรรมดาโดยทั่วไป และผู้แทนของนิติบุคคลนั้น จะต้องเป็นคนไทย คือมีสัญชาติไทย และกรรมการนิติบุคคล หรือผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 ใน 3 นั้นจะต้องเป็นสัญชาติไทย และมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย  

“สำหรับกรณีเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ไม่เป็นนิติบุคคล สามารถเป็นผู้ขออนุญาตได้ หรือกรณีเป็นหน่วยงานของรัฐก็ได้เช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติไว้ตั้งแต่วันนี้ในระดับพระราชบัญญัติ แทนที่จะปล่อยให้มีการออกกฎกระทรวงในภายภาคหน้าของอำนาจรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่าทางกรรมาธิการฯ ต้องการกำหนดคุณสมบัติเพื่อป้องกันการกีดกัน การเข้าถึงการทำธุรกิจกัญชาของประชาชนผู้สุจริต และไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนกลุ่มใด หรือกลุ่มการเมืองกลุ่มใด แต่ประชาชน และนิติบุคคลใดที่เข้าข่ายคุณสมบัติสามารถเป็นผู้ขออนุญาตได้ทุกคน เพราะฉะนั้นข้อห่วงใยในเรื่องของการที่จะถูกกีดกั้นเพื่อประโยชน์ของนายทุนนั้นชัดเจนแล้วว่า คุณสมบัติตามที่กรรมาธิการฯ เห็นชอบนั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของประชาชน และนิติบุคคล โดยจะไม่มีการกีดกั้นแต่ประการใด” นายปานเทพ กล่าว