กฟผ.มั่นใจปี 67 สถานีชาร์จรถอีวี รองรับการชาร์จไฟได้กว่า 1 ล้านคัน

  • เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน
  • ดันสัดส่วนโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดกว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์
  • เร่งมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์หันไปใช้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ามากขึ้น

ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 พบว่า ประเทศไทย มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ถือว่าสอดรับกับเป้าหมายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ของภาครัฐตามนโยบายที่จะมีการใช้รถไฟฟ้าร้อยละ 30 ในปี 2030

และในส่วนกฟผ. เองก็ได้เตรียมพร้อมเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งในปี 2567 จะมีความพร้อมที่จะสามารถรองรับการใช้งานได้พร้อมกัน 6 แสนคัน นอกจากนี้หากมีการบริการจัดการช่วงเวลาการใช้งานชาร์จไฟฟ้าให้ดี เช่น แบ่งช่วงเวลาการชาร์จกลางวันร้อยละ 50 และแบ่งเวลาการชาร์จกลางคืนร้อยละ 50 จะทำให้สามารถรองรับการชาร์จได้กว่า 1 ล้านคัน

นอกจากนี้เพื่อรองรับทิศทางพลังงานทดแทนของประเทศ กฟผ. จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ หรือโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด มากกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จากเดิมที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 มอบหมายให้ กฟผ. ผลิตโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด จำนวน 2,725 เมกะวัตต์ จำนวน 16 โครงการทั่วประเทศ

รวมทั้งได้กำหนดทิศทางการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน รวมถึงมุ่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย เพื่อรับมือกับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นและทำให้ระบบไฟฟ้ามีความซับซ้อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน แต่ก็สร้างโอกาสในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย ซึ่งจะช่วยรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนและช่วยยกระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า