กพอ.สั่งเดินหน้าศึกษา 3 เมกะโปรเจกต์ใหม่ มูลค่า 1.18 ล้านล้านบาท

.เชื่อมโยงความเจริญอีอีซีสู่ภูมิภาคอื่น

.ท่าเรือบก-แลนด์บริจด์-สะพานไทย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า กพอ.เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน รวมการศึกษา 3 โครงการใหม่ ที่จะเป็นยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอีอีซีไปยังภูมิภาคอื่น ประกอบด้วย โครงการท่าเรือบก (Dryport) โครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน (ท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนอง Land bridge) และโครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซี ไปสู่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(เอสอีซี) รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1.18 ล้านล้านบาท โดยให้กระทรวงคมนาคม และสกพอ.เน้นการร่วมลงทุนรัฐและเอกชน(พีพีพี)


โดยโครงการแรกท่าเรือบก (Dryport) จะเชื่อมโยงท่าเรือแหลมฉบังกับนานาชาติ โดยร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการท่าเรือบก ในเมืองสำคัญ ๆ เช่น ฉงชิ่ง คุนหมิง (จีน) นาเตย หลวงพระบาง เวียงจันทร์ สะหวันนะเขต (สปป.ลาว) ย่างกุ้ง เนปยีดอ มัณฑะเลย์ (เมียนมา) ปอยเปต พนมเปญ (กัมพูชา) และดานัง (เวียดนาม) เมื่อเชื่อมโยงสมบูรณ์ จะมีเพิ่มปริมาณสินค้าเข้าท่าเรือแหลมฉบังได้ 2 ล้านตู้สินค้า (ทีอียู)ต่อปี ในส่วนของไทยจะมี 3 แห่ง คือ ท่าเรือบกฉะเชิงเทรา มูลค่า 8,000 ล้านบาท ท่าเรือบกขอนแก่นและท่าเรือบกนครราชสีมา 16,000 ล้านบาท ใช้เวลาสำรวจออกแบบและก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จปี 2566-2567

โครงการที่สองโครงการเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC (บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล และศรีลังกา) โดยการขนส่งผ่านท่าเรือระนอง จะลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบ มะละกา และมีแนวคิดจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดชุมพรเพิ่มเติม โดยจะพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเพื่อเชี่อมโยงท่าเรือน้ำลึกทั้งสองแห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และทางหลวงมอเตอร์เวย์เพื่อเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณศึกษารูปแบบแล้ว 68 ล้านบาท ขณะที่โครงการปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกระนอง-ชุมพร มูลค่า 15,037 ล้านบาท โครงการพัฒนาแลนด์บริจด์ 45,000 ล้านบาท รถไฟทางคู่สายใหม่พานทอง-หนองปลาดุก 95,000 ล้านบาท และรถไฟทางคู่ช่วงประจวบฯ-ชุมพร 12,457 ล้านบาท

  1. โครงการสะพานไทย ที่จะเชื่อมโยงอีอีซี ไปสู่เอสอีซี โดยการก่อสร้างทางรถยนต์มาตรฐาน 4 ช่องจราจรพร้อมไหล่ทางเชื่อมฝั่งตะวันตก และตะวันออกของอ่าวไทยตอนบน (เชื่อม จ.ชลบุรีและ จ.เพชรบุรี) ระยะทางประมาณ 80-100 กิโลเมตร สามารถประหยัดระยะเวลาเดินทาง 2 – 3 ชั่วโมง โดยจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างภาคใต้และท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่า 990,000 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2575