กพท.เร่งออกใบรับรองสนามบินสาธารณะ 13 แห่ง-ดัน“สนามบินอุดร-สนามบินบุรีรัมย์-สนามบินกระบี่”ก่อนเดือน พ.ค.ให้ทันก่อนโอนย้ายสนามบิน

กพท.เร่งออกใบรับรองสนามบินสาธารณะ “สนามบินอุดร-สนามบินบุรีรัมย์-สนามบินกระบี่”ก่อนเดือน พ.ค.ให้ทันก่อนโอนย้ายสนามบิน คาดปีนี้ออกครบ 13 แห่ง ขณะที่ปี 67 ครบทั้ง 39 แห่ง เครื่องหมายการันตีสนามบินปลอดภัยได้มาตรฐานสากล

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Public Aerodrome Aerodrome Operating Certificate: PAOC) ให้แก่ท่าอากาศยานของไทยทั้ง 39 แห่ง เพื่อรับรองว่าสนามบินสามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานสนามบินที่ กพท. กำหนด และมาตรฐานสากล โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในกลางปี 66 จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้แก่ท่าอากาศยานของไทยได้รวม 13 แห่ง ซึ่ง กพท. จะเชิญองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(ไอเคโอ) เข้ามาตรวจมาตรฐานด้านความปลอดภัยสนามบินของไทยในช่วงปลายปี 66 ด้วย เพื่อแสดงถึงความพร้อมของท่าอากาศยาน

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่ได้รับใบรับรองฯ แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเบตง, ท่าอากาศยานอู่ตะเภา, ท่าอากาศยานสมุย, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ส่วนอีก 34 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่ากลางปีนี้จะสามารถออกใบรับรองฯ ได้อีก 8 สนามบิน ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานหาดใหญ่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์, ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานกระบี่ อย่างไรก็ตาม กพท. ต้องเร่งออกใบรับรองให้กับท่าอากาศยานกระบี่, ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการแทน ทย. ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนเดือน พ.ค.66 เพราะเบื้องต้น ทอท. จะเริ่มเข้ามาบริหารท่าอากาศยานดังกล่าวเดือน พ.ค.นี้แล้ว

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับท่าอากาศยานอีก 26 แห่งนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการออกใบรับรองฯ ในขั้นตอนต่างๆ คาดว่า กพท. จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้ได้ภายในปี 67 อย่างไรก็ตามสาเหตุที่ต้องมีการออกใบรับรองฯ เนื่องจากที่ผ่านมามีการแก้ไข และประกาศใช้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ.2562 จึงทำให้ต้องออกใบรับรองฯ ใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับใหม่ และเป็นไปตามกระบวนการใหม่ตามมาตรฐานสากล 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการออกใบรับรองฯ ใหม่นี้ ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานท่าอากาศยานในประเทศไทย ใบรับรองนี้จะเป็นเครื่องยืนยันให้กับท่าอากาศยานทั้ง 39 แห่งของไทยได้ว่า ได้มาตรฐานความปลอดภัย อีกทั้งยังเหมือนเป็นตัวกำกับการดำเนินงานของท่าอากาศยานต่างๆ หากท่าอากาศยานใดปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปล่อยปละละเลยเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ทาง กพท. จะสามารถเพิกถอน หรือพักใช้ใบรับรองฯ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอเคโอ ต้องการให้หน่วยงานกำกับมีเครื่องมือที่จะควบคุมการดำเนินงานสนามบินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วย