กบร.ต่อลมหายใจ!สายการบินลดค่าขึ้นลงสนามบิน-ค่าจอดเครื่องบินลง50%ถึงสิ้นปีนี้-รื้อกฎระเบียบลดขั้นตอนการขออนุญาตประกอบการบิน สนามบิน โดรน ให้สั้นลง

กบร.ต่อลมหายใจ!ขยายระยะเวลามาตรการช่วยสายการบินที่ได้รับผลดระทบจากโควิดออกไปถึงสิ้นปี64 ทั้งลดค่าบริการขึ้นลงเครื่องบิน-ค่าจอดลง50%-ยกเว้นค่าจอดเครื่องบินที่หยุดบริการ พร้อมรื้อกฎระเบียบเวลาขั้นตอนการขออนุญาตประกอบการบิน ออกใบอนุญาต สนามบินส่วนบุคคล-โดรน ให้สั้นลง


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.)เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบร.ได้มีมติขยายระยะเวลาของมาตรการบรรเทาผลกระทบสายการบินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ออกไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 64นี้ สำหรับมาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบินนั้นได้ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ปรับลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ลง 50 % สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศ รวมทั้งยกเว้นการจัดเก็บค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) สำหรับสายการบินที่หยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 3 (1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 64)

ขณะเดียวกันในส่วนของมาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.)จำนวน 29แห่งทั่วประเทส ก็ยกเว้นเช่นกัน โดยขณะนี้ ทย. ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานแล้ว ทย. ก็สามารถคืนเงินค่าบริการส่วนต่างที่ได้เรียกเก็บจากสายการบินคืนให้สายการบินได้

ทั้งนี้ในที่ประชุม กบร. ยังมีมติให้ กพท.ขยายระยะเวลาชำระหนี้ (Credit Term) และยกเว้นเงินเพิ่ม (ค่าปรับ) กับสายการบินที่ส่งค่าธรรมเนียมเข้าหรือออกประเทศล่าช้าในไตรมาสที่ 3 ในส่วนของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือกับสายการบินลงแล้วเนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเงินของ บวท. เองในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม หาก บวท. สามารถขอเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติมได้ ให้ บวท. พิจารณานำเสนอมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของสายการบินต่อที่ประชุม กบร. อีกครั้งหนึ่ง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม


นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ที่ประชุม กบร.ยังมีมติเห็นชอบให้บริษัทไทย ซัมเมอร์ แอร์เวย์ จำกัด ได้รับการยกเว้นการเริ่มประกอบกิจการโดยการทำการบินจริง (Actual Flight Operation) ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยให้ขยายระยะเวลาออกไปเป็นภายในวันที่ 31 มีนาคม 65 นอกจากนั้นยังเห็นชอบให้มีการกำหนดกระบวนการขั้นตอนและระยะเวลาในการออกใบอนุญาต หนังสืออนุญาต และการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ก่อนที่จะมีการเสนอเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและคณะกรรมการการบินพลเรือนพิจารณาก่อนออกใบอนุญาต


นอกจากนั้นที่ประชุม กบร.ยังมีมติให้ กพท.ไปเร่งรัดทำแผนการจัดระเบียบการดำเนินงานใหม่ (Set Zero) ใหม่ สำหรับภารกิจที่ต้องเร่งจัดการ เช่น การรับรองสนามบินสาธารณะและการออกใบอนุญาตสนามบินส่วนบุคคล รวมถึงการออกใบอนุญาต โดรน ทั้งประเภทที่ต้องขอขึ้นทะเบียนกับ กพท. และประเภทที่ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (โดรนที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 กิโลกรัม) ให้มีกรอบระยะเวลาการขออนุญาต ออกใบอนุญาติให้ชัดเจน เพื่อลดการบินโดรนที่ผิดกฎหมาย และเพื่อให้กิจการการบินในทุกมิติสามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและต่อยอดนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดประเทศ ขณะเดียวกันได้มีการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นอีกในช่วง 2 – 4 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงได้ให้ กพท.ไปหาแนวทางเตรียมรองรับไว้ โดยให้ กพท.เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายผลการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีก 9 แห่ง ตามที่รัฐบาลได้แถลงไว้ หลังจากการเปิด Phuket Sandbox ประสบความสำเร็จ