กนอ.ระดมสมองบริหารจัดการน้ำสู้ภัยแล้ง

  • ป้องกันขาดแคลนน้ำภาคอุตสาหกรรม
  • ผวาพื้นที่อีอีซีเผชิญวิกฤต
  • ปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้ง


นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยหลัง เป็นประธานการประชุมเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี ว่า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝ่าวิกฤตฝนทิ้งช่วงในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ โดยจะมีการจัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจากปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งนี้

“จากการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำ 141.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จะมีน้ำต้นทุนคงเหลือ 9.8 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอไปจนถึงเดือนมิ.ย.นี้”

ประกอบกับ กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ระบบ 3 Rs (Reduce : ลดการใช้ Reuse : นำกลับมาใช้ซ้ำ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่) และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณการใช้น้ำลดลงได้ถึง 14 % ขณะเดียวกัน ก็มีมาตรการระยะยาวภายหลังสิ้นสุดฤดูแล้งโดยการพัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมใน 4 อ่าง อาทิ อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ รวมปริมาณน้ำ 308 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก จะสามารถดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปี

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกล่าวว่า กนอ.ได้มีมาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนด้วยการดำเนิน 4 มาตรการ อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ในเดือนมี.ค.นี้, .การใช้ระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์, .การเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสหากรรมร่วมกันรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของการดำเนินการ สามารถผลิตน้ำได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการฯ แต่มีความประสงค์จะใช้น้ำจากมาตรการนี้สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุน อยู่ที่ 72 บาทต่อลูกบาศก์เมตรได้เช่นกัน