กนอ.ดันสุดลิ่ม นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

  • พร้อมเปิดให้บริการระยะที่1 ในปีหน้า
  • คาดดึงดูดเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท
  • กิดการจ้างงานในพื้นที่20,000 คน

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ว่านิคมฯอุดาธานี เป็นการร่วมดำเนินการระหว่างกนอ. และบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ 2,170 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 1,635 ไร่ มูลค่าลงทุน100,000 ล้านบาท มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 50% โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค ซึ่งในปี2564 จะสามารถเปิดให้บริการได้ในระยะแรก

“หลังเปิดให้บริการครบ 100 % เชื่อว่านิคมฯแห่งนี้ จะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่รวม22,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 20,000 คน สามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้15,000 ล้านบาทต่อปี และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ 100,000 ล้านบาท”

สำหรับ การให้สิทธิประโยชน์พิเศษแก่ผู้ประกอบการในนิคมฯ อุดรธานี จะเทียบเท่ากับผู้ประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายในนิคมฯอุดรธานี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย แปรรูปเกษตร ผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะและประกอบรถยนต์ ผลิตวัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ เหล็กขั้นปลาย เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 พื้นที่ 1,000 ไร่ จะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยเป็นพื้นที่ขายจริง 700 ไร่ ทั้งอาคารคลังสินค้าให้เช่า การบริการรับและจ่ายตู้คอนเทนเนอร์ การให้บริการเปิดตู้และบรรจุตู้คอนเทนเนอร์สำหรับสินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านแดนส่วนระยะที่ 2 อีก 1,000 ไร่จะทยอยพัฒนาระหว่างปี 2565-2568 ที่จะพัฒนาระบบรางรถไฟภายในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อเชื่อมต่อกับสถานีหนองตะไก้ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเชื่อมต่อเข้ามายังพื้นที่นิคมฯอุดรธานี เพื่อให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ(Freight Forwarder) อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ นิคมฯ อุดรธานีมีความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ คือ มีทำเลที่ตั้งอยู่ในโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงทั้งในและนอกประเทศ มีเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับจีนตอนใต้ โดยใช้เส้นทาง R12, R9 และ R8 อยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ที่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ไปยังท่าเรือแหลมฉบังและพื้นที่อีอีซี