กนง.คงดอกเบี้ย-ปรับลดเติบโตเศรษฐกิจ-ออกมาตรการสกัดเงินร้อน

  • ลดประมาณการปีนี้ลงแรง 0.5% เหลือ 3.3%.
  • สั่งตามบาทแข็ง-ออกมาตรการสกัดเงินร้อน
  • ห่วงภาวะก่อหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังพุ่งสูงต่อเนื่อง

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยถึง ผลการประชุม กนง. วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 1.75% ต่อปี พร้อมกันนั้นได้ปรับตัวเลขการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 62 และปี 63 ลดลง เนื่องจากเห็นแนวโน้มขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม

“ทั้งนี้ จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ธปท.ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง 0.5% จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัว 3.8% เหลือเพียง 3.3% ขณะที่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.9% เหลือ 3.7%  ผลจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้มาก ตามเศรษฐกิจคู่ค้าและปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น โระหว่างสหรัฐฯ และจีน ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่ต้องติดตามความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกรณีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน เบรกซิทในยุโรป รวมทั้งการขยายตัวที่ชะลอลงเศรษฐกิจจีนและประเทศอุตสาหกรรมหลัก”

 ขณะที่ความเสี่ยงในประเทศ ยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงรายได้และการจ้างงานที่มีสัญญาณชะลอลง การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดยจะต้องติดการการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่กำหนดเวลาที่ชัดเจน ส่งผลให้การประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจ่าปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะเบิกจ่ายได้ล่าช้าออกไปประมาณ 1 ไตรมาส คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในต้นปี 63 รวมทั้ง การเลื่อนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ธปท.ปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกจากที่คาดขยายตัวเพิ่มขึ้น 3% เป็นไม่ขยายตัว หรือขยายตัวที่ 0% ขณะที่การนำเข้าลดลงมากกว่า โดยคาดจะติดลบ 0.3% ในปีนี้ จากที่คาดว่า จะขยายตัว 3.1% ปรับลดตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนจากการขยายตัว 3.9%.ในครั้งก่อนลงเหลือ 3.8% ลดประมาณการการลงทุนภาคเอกชนลงจากที่คาดจะขยายตัว 4.4%เหลือ 3.8% ขณะที่ลดประมาณการการลงทุนภาครัฐลงค่อนข้างมาก จากเดิมคาด 6.1% เหลือ 3.8% รวมทั้งลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่ำลงจาก 40.4 ล้านคนเหลือ 39.9 ล้านคน

“ในการประชุมครั้งนี้ กนง.ได้มีการหารือกันในเรื่องประเด็นการไหลข้าวของเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไรในประเทศไทย และการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่เร็วเกินไป ส่งผลให้แข็งค่านำภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมาและไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนมองค่าเงินบาทเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยในครั้งนี้ เป็นครั้งแรก กนง.ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ให้ธปท.ติดตามความเคลื่อนไหวของเงินทุนระยะสั้น และค่าเงินบาทในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด ซึ่งยืนยันว่า ธปท.พร้อมที่จะดูแลค่าเงินบาท และคาดว่าจะมีกลไกในการบริหารจัดการค่าเงินที่เข้มข้นขึ้น โดยมีมาตรการเตรียมไว้เป็นขั้นตอนตามลำดับแล้ว และธปท.คงไม่ช้า หากต้องออกมาตรการดูแลค่าเงิน”

นายทิตนันทิ์ กล่าวต่อว่า ธปท.ยอมรับว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวต่ำกว่าที่คาด และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการนี้ แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต้องพิจารณาอีก 2 ประเด็นคือ อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงที่จะเปราะบางด้านเสถียรภาพการเงินในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ ธปท.ยังมีความเป็นห่วงการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีความเปราะบางในหลายจุดในการปล่อยสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ และการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนั้น ภาวะการเงิน และดอกเบี้ยนโยบายในขณะนี้อยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจได้