กฎหมายโลจิสติกส์ไทยถ่วงการแข่งขันทางธุรกิจ

.สขค.-จับมือโออีซีดีศึกษาพบมีกฎระเบียบซ้ำซ้อนอื้อ

.โดยเฉพาะขนส่งทางเรือ-รางที่ยังผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน

.ไปรณีย์ไทยได้สิทธิพิเศษเพียบทำแข่งขันไม่เท่าเทียมกับเอกชน

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือ OECD – ASEAN Competition Assessment ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และรัฐบาลสหราชอาณาจักร  เพื่อมุ่งปฏิรูปกฎระเบียบและนโยบายด้านโลจิสติกส์ให้ส่งเสริมการแข่งขัน และยกระดับการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบการในธุรกิจสาขาโลจิสติกส์ จึงได้ร่วมกันจัดทำรายงานการศึกษา 2 เรื่อง ได้แก่ 1. รายงานการศึกษาการประเมินกฎระเบียบด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของประเทศไทย มุ่งเน้นการประเมินกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องธุรกิจในสาขาโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้า เช่น การขนส่งสินค้า ธุรกิจตัวกลางในการจัดส่งสินค้า การบริการขนส่งพัสดุย่อย การให้บริการคลังสินค้า เป็นต้น  

“ผลการศึกษา พบว่า มีกฏระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด 69 กฏระเบียบ ในจำนวนนี้มี 54 กฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างบรรยาการการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งในรายงาน ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการปรับปรุงกฎระเบียบดังกล่าว เพื่อเพิ่มระดับการแข่งขัน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย”  

และ2. รายงานการศึกษาการประเมินความเป็นกลางทางการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย  โดยศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความสำคัญและกรอบการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย รัฐวิสาหกิจและการแข่งขัน ภาพรวมของธุรกิจการขนส่งพัสดุย่อยของไทย และการดำเนินงานของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ที่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในธุรกิจขนส่งพัสดุย่อย รวมทั้งมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่มุ่งการสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และให้ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม  

ด้านนายอัครพล ฮวบเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมต่างประเทศ สขค. กล่าวว่า ในผลการศึกษากฎระเบียบโลจิสติกส์ พบว่า มีกฎระเบียบมากมายที่ซ้ำซ้อน และมีผลทำให้ธุรกิจไม่เกิดการแข่งขัน โดยเฉพาะธุรกิจท่าเรือ การขนส่งสินค้าในน่านน้ำไทย และการขนส่งสินค้าทางราง  ที่ยังผูกขาด และเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค เพื่อส่งเสริมให้เกิดแข่งขันอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรมสำหรับภาคธุรกิจ เพราะภายใต้กฎหมายแข่งขันทางการค้าพ.ศ.2560 บางธุรกิจของรัฐวิสาหกิจต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ด้วย   

ส่วนผลการศึกษาเรื่องที่ 2 พบว่า ไปรษณีย์ไทย ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากกว่าบริษัทขนส่งพัสดุรายอื่นๆ เช่น ได้ขึ้นทางด้วนฟรี แต่บริษัทเอกชนต้องเสียค่าผ่านทาง เป็นต้น ทำให้การแข่งขันไม่เท่ากัน ในรายงานผลการศึกษาจึงเสนอให้ ยกเลิกการให้สิทธิพิเศษ รวมถึงเสนอให้แยกธุรกิจ ที่มีศักยภาพออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทลูก เพื่อให้มีอิสระในการทำงาน และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น เช่น ปัจจุบัน ไปรณีย์ ไม่มีส่งวันอาทิตย์ มีระยะเวลาการจัดส่งจำกัดตามเวลาราชการ ขระที่บริษัทเอกชนส่งออกตลอด ไปรษณีย์ไทยควรแยกธุรกิจส่งพัสดุออกมาตั้งเป็นบริษัท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ดีขึ้น 

สำหรับผลการศึกษาทั้ง 2 เรื่องนี้ จะนำส่งให้คณะทำงานของ OECD เพื่อจัดทำเป็นรายงาน และเอาไปกรณีตัวอย่างปรับใช้กับภาคธุรกิจของประเทศอื่น ขณะเดียวกั้น สขค.จะนำมารวบรวมข้อมูล สังเคราะห์ และทำเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันสำหรับภาคธุรกิจของไทยต่อไป