กกร. แนะปรับโครงสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

  • ขอเข้าพบธปท.หารือแก้ปัญหาระยะยาว
  • แก้ปมบาทก่อนกระทบเศรษฐกิจปีหน้า
  • คงกรอบเติบโตจีดีพีปีนี้ไว้ตามเดิม2.7-3%

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องทบทวนนโยบายอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน ที่ควรต้องมีการปรับโครงสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว แบบกึ่งจัดการ ในปัจจุบันให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยน ลอยตัวแบบนี้มานานมากแล้วตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในช่วงที่ประเทศไทย มีปัญหาด้านการเงิน ฐานะการคลังตกต่ำ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีปัญหา พื้นฐานเศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น อยู่ในสถานะที่เข้มแข็ง ดังนั้นหากยังคงใช้ระบบเดิม อาจไม่เหมาะกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เปลี่ยนไปแล้วก็ได้
“ในสัปดาห์หน้า กกร. จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่ามีมาตรการอะไรที่ช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ ให้ดีขึ้นในระยะกลางกับระยะยาวหรือไม่ หรืออาจถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องพิจารณาทบทวนการปรับโครงสร้างค่าเงินบาท ให้มีความเหมาะสม แต่คงไม่ต้องถึงขั้นกลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่หรือระบบตะกร้าเงินที่อิงกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก เพราะขณะนี้เพียงแค่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้”
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า ในระยะสั้น กกร.ยังมีข้อเสนอให้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระหว่าง กกร., ธปท. ,กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันหาแนวทางดูแลเงินบาท ให้มีเสถียรภาพ โดยภาคเอกชนควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนไปยังธปท. ให้มีมาตรการลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่าโดยเร็วที่สุด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ต่อเนื่องในปีหน้า เช่น การเพิ่มระยะเวลาการพักเงินรายได้ จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ส่งออกให้เร็วขึ้น เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ก็ ต้องเร่งบริหารต้นทุนและราคาด้วย การพัฒนายกระดับนวัตกรรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสินค้าไทยให้มีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าใหม่ๆ ต่อเนื่อง รองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่ยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากไตรมาส 3 การส่งออกหดตัวตามทิศทางเศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง ทำให้คำสั่งซื้อชะลอลง หากยังเกิดขึ้นต่อเนื่องอาจสร้างผลกระทบต่อการจ้างงานและกำลังซื้อในประเทศเป็นวงกว้างมากขึ้นในอนาคต
ดังน้ัน กกร. จึงมีมติคงกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย ปีนี้อยู่ที่ 2.7-3% การส่งออกคาดอยู่ที่ติดลบ 2% ถึงโตได้ 0% และเงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 0.8-1.2%