กกร.ลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.0-2.5%

  • หลังเผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบในประเทศและต่างประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ท่ามกลางปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดือนมกราคม 2563 ประเมินว่าจะขยายตัว 2.5-3.0% เหลือเพียง 2.0-2.5% แต่ยังคงกรอบประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกและเงินเฟ้อไว้ตามเดิม คือ ส่งออกติดลบ 2% ถึง 0.0 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง 0.8-1.5%

ทั้งนี้ กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 เผชิญความท้าทายจากปัจจัยลบ โดยปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในประเทศจีน ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด ปัจจัยนี้ นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจีนปี 2563 จะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดและส่งผลทางลบมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยแล้ว ยังเป็นแรงฉุดสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้ประสบกับความยากลำบาก เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนด้านจำนวนและรายได้คิดเป็น 28% ของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งหมด

ภายใต้สมมติฐานการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในจีนอยู่ในกรอบเวลา 3-6 เดือน เบื้องต้นผลกระทบจากรายได้การท่องเที่ยวที่หายไปอาจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 108,000-220,000 ล้านบาท ครอบคลุมธุรกิจในห่วงโซ่ทั้งโรงแรมและที่พัก ร้านอาหาร ค้าปลีก และขนส่ง ขณะที่ผลกระทบอาจทำให้การส่งออกลดลงด้วย ซึ่งยังคงต้องติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับปัจจัยในประเทศ ได้แก่ ความล่าช้าของการมีผลบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการลงทุน และภัยแล้งรุนแรง ซึ่งเป็นแรงฉุดกำลังซื้อของครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก รวมทั้งปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานหรือ PM2.5 ที่อาจมีผลต่อคุณภาพชีวิตและการทำกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชน

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กกร.มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อภาครัฐ ดังนี้ ขอตั้งคณะกรรมการ กกร.ร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม และการจัดซื้อ Local Content รวมทั้ง ช่วยเหลือให้ SME ในการเข้าประมูลภาครัฐ ขอยกเว้นการจ่ายประกันสังคมของลูกจ้างและผู้ประกอบการ SME เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขอให้คืน VAT ให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 30 วัน ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 5 จากยอดเรียกเก็บให้กับผู้ใช้ เป็นระยะเวลา 6 เดือน และภาคเอกชนจะประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและท่องเที่ยวในประเทศ โดยสนับสนุนให้ ร้านค้า โรงแรม และบริษัทในเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย