กกร.จบไม่ลงหามาตรการเพิ่มเติมคุมหน้ากากอนามัย

  • จ่อห้ามกักตุนแต่ยังไม่เคลียร์ต้องมีปริมาณเหมาะสมเท่าไร
  • กำหนดราคาขายสูงสุดแต่ยังไม่รู้คุมราคาเท่าไร-คุมกี่ชนิด
  • ”จุรินทร์”นัดแถลงข่าวผลประชุม 5 มี.ค.นี้11โมง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า เมื่อวันที่ 4 มี.คที่ผ่านมา เวลา 11.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยของกรมการค้าภายใน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย โดยหลังจากการประชุมผ่านไปกว่า 6 ชั่วโมง จนถึงเวลาประมาณ 17.40 น. การประชุมยังไม่เสร็จสิ้น นายจุรินทร์ ได้เดินออกมาแจ้งผู้สื่อข่าวที่รอทำข่าวหน้าห้องประชุมว่า ยังไม่รู้การประชุมเสร็จเมื่อไร จึงขอเลื่อนการแถลงข่าวผลการประชุมครั้งนี้ไปเป็นวันที่ 5 มี.ค.63 แทน

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาถึงมาตรการเพิ่มเติมที่จะนำมาใช้ควบคุมหน้ากากอนามัย โดยมาตรการที่จะนำมาใช้แน่นอนคือ กกร.จะออกประกาศกำหนดให้ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด จะต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน เพื่อป้องกันการกักตุน หากไม่แจ้งจะมีความผิดตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในที่ประชุม มีการหารือกันอย่างกว้างขวางว่า ปริมาณเท่าไรจึงจะเหมาะสมสำหรับคนแต่ละกลุ่มที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครอง อย่าง สถานพยาบาล ร้านขายยา นิติบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายยา (ผู้ค้าทั่วไป) บุคคลธรรมดา ที่เป็นพ่อค้าทั่วไป เป็นต้น

 นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการคุมราคาจำหน่ายสูงสุดมาใช้ ซึ่งในเรื่องนี้ ที่ประชุมหารือกันนานมาก เพราะหน้ากากอนามัย ที่มีใช้ประเทศไทย ทั้งที่เป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยชนิดเศษ ที่ใช้ป้องกันสารเคมี วัตถุอันตราย หน้ากากอนามัยสำหรับใช้โรงงานอุตสาหกรรม มีมากถึงประมาณ 70 เกรด และราคาขายแตกต่างกันไป ซึ่งยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า แต่ละชนิดจะคุมราคาขายสูงสุดที่เท่าไร หรือจะนำมาคุมราคาขายสูงสุดทั้ง 70 เกรดหรือไม่

รวมถึงจะพิจารณาการจัดสรรหน้ากากอนามัยของศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ขอให้โรงงานผู้ผลิตทั้ง 11 แห่ง จัดส่งหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ทั้งหมดเดือนละประมาณ 38 ล้านชิ้น ให้กับศูนย์ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (กทม.) มหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลเอกชน เป็นต้น รวมถึงกระจายสู่ประชาชนผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และร้านธงฟ้าทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ กกร.ออกประกาศให้หน้ากากอนามัย และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมถึงเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสินค้าควบคุมแล้ว ได้ออกมาตรการบริหารจัดการ โดยกำหนดผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ต้องแจ้งปริมาณในครอบครองต่อกรมการค้าภายใน เพื่อให้ทราบจำนวนที่ผลิตได้ และสต๊อกที่มีอยู่ รวมถึงให้แจ้งต้นทุนการผลิต, ห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยทุกชิ้น เป็นต้น และให้โรงงานผลิตปันส่วนหน้ากากอนามัยประมาณ 45% ของการผลิตทั้งหมด มาไว้ที่ศูนย์ เพื่อจะได้จัดสรรให้กับผู้ที่ต้องการใช้ก่อน และขายสู่ประชาชน ซึ่งมาตรการทั้งหมดเพื่อทำให้หน้ากากอนามัยมีเพียงพอใช้ในประเทศในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19