กกพ. ประกาศติดตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้าใกล้ชิดในปีนี้

  • ตั้งเป้าตรึงค่าเอฟทีเพื่อภาระค่าครองชีพประชาชนยาว
  • อีก2งวดที่เหลือ แจงมีเงินตุนไว้ดูแล 1,000 ล้านบาท
  • ลุยปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานเริ่มใช้ 1 ม.ค. 64

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ กกพ. จะยังคงติดตามต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลไม่ให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัติโนมัติ(เอฟที) ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะดูแลค่าเอฟทีให้ประชาชนได้อีก 2 งวดที่เหลือของปี นี้ คืองวดเดือน พ.ค-ส.ค และงวดก.ย.-ธ.ค. ให้คงอัตราปัจจุบันคือค่าเอฟทีและค่าไฟฟ้าฐานรวมกันอยู่ที่ 3.640 บาทต่อหน่วย เนื่องจากยังมีวงเงินคงเหลิอของ3การไฟฟ้าที่ขอนำไปลงทุนแต่ไม่มีการลงทุนตามแผนที่กำหนดไว้เหลืออีก 1,000 ล้านบาท ที่สามารถนำมาดูแลค่าเอฟที ให้กับประชาชนได้

นายคมกฤช กล่าวว่า จากนี้ไป กกพ.ต้องมาดูว่า ต้นทุนเชื้อเพลิงของการผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ เพราะขณะนี้แนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวกเพราะราคาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นเชื้อเพลิงหลักผลิตไฟฟ้า ยังมีราคาลดลงตามราคาน้ำมันตลาดโลก ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้การซื้อเชื้อเพลิงและซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศถูกลง มีเพียงปัจจัยลบที่มีความเสี่ยง ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอาจเพิ่มขึ้น คือมาจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำของประเทศไทยที่เริ่มลดลงเพราะปัญหาภัยแล้ง ที่หากต้องมีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

สำหรับความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐาน ล่าสุด กกพ.อยู่ระหว่างการศึกษาคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในไตรมาส3-4 ปีนี้ และประกาศใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 ซึ่งโครงสร้างใหม่ จะมุ่งทำให้ สอดรับกับเทคโนโลยีที่ เปลี่ยนแปลงไปและการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้า ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ผู้ผลิตเองใช้เอง(Prosumer)

ทั้งนี้ใน การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เดือน มี.ค.นี้กกพ.จะเสนอขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบายโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวแบบEnhancing Single Buyer (ESB) ที่จะมีผลในทางปฏิบัติในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อสนับสนุนการเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Peer to Peer Energy Trading หรือระบบการซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนกับชุมชนโดยรอบในพื้นที่ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารพลังงาน (ERC Sandbox) ได้รวดเร็วขึ้น

“ กกพ.ได้ออกประกาศ ERC Sandbox มีผู้ได้รับสิทธิเข้าร่วมจำนวน 34 โครงการ แบ่งเป็นทดสอบเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันโดยไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Peer to Peer ) จำนวน 8 ราย และโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กไม่ผ่านระบบจำหน่าย (Micro Grid) จำนวน 6 ราย แต่ยังปฏิบัติไม่ได้เพราะติด ESB จึงต้องปลดล็อคขณะเดียวกัน ยังไม่มีการกำหนดอัตราค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน (Wheeling Charge) เพื่อทำให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้า”