ไบร์ททีวี เข้าคิวรอรับเงินคืนช่องทีวีดิจิทัล



  • “อสมท.-ช่อง3-วอยซ์ทีวี” ยังเงียบกริบ
  • ฐากร”ลั่นคืนเงินทีวีดิจิทัลรัฐมีแต่ได้ไม่มีเสีย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิิจิทัลช่อ 20 ได้ยื่นเอกสารหลักฐานการขอรับเงินชดเชยเยียวยาการคืนใบอนุญาต มาให้คณะอนุกรรมการเยียวยาและชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตทีวีดิิจทัลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคณะอนุกรรมการเยียวยาฯ จะพิจารณารายละเอียดและวงเงินจ่ายเงินชดเชยในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ 

ส่วนผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ที่แจ้งขอคืนใบอนุญาตอีก  3 ราย 4 ช่อง คือ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ผู้รับใบอนุญาตทีวีช่อง 13 บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด ผู้รับใบอนุญาตช่อง21  บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่อง13 และช่อง 28 ยังไม่ส่งเอกสารใดๆ มาให้คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ พิจารณา อย่างไรก็ตามช่องทีวีดิจิทัล ยังมีเวลาที่จะยื่นเอกสารต่างๆ ให้กสทช.ภายในวันที่  10 ก.ค.2562 นี้  

“ทีวีดิจิทัลช่อง 19 สปริงส์นิวส์ และสปริง 26 เป็น 2 ช่องแรกที่ยื่นเอกสารครบถ้วน มาให้กสทช.พิจารณาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแผนการยุติการออกอากาศในวันที่  16 ส.ค. 2562 เป็นต้นไป จากนั้นทั้ง 2 ช่องก็สามารถมายื่นเอกสารขอรับเงินคืนได้ตามกรอบวงเงินที่คณะอนุกรรมการเยียวยาฯได้เห็นชอบไป โดยช่อง19 สปริงส์นิวส์ ได้รับเงินคืนราว  500 ล้านบาท และช่อง 26 สปริง ได้รับเงินคืน 675 ล้านบาท  ซึ่งเงินดังกล่าว กสทช.จะทำหนังสือยืมเงินมาจากองทุน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนกทปส.)​มาจ่ายให้ก่อน เมื่อกสทช.รับเงินจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ จากผู้มารับจัดสรรคลื่นแล้ว ก็จะนำเงินดังกล่าวมาคืนกองทุนกทปส.”

นายฐากร กล่าวว่า สูตรการคำนวณคืนเงินให้กับทีวีดิิจิทัล กรณีคืนใบอนุญาตนั้น เป็นไปตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช)เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคม โดยนำระยะเวลาใบอนุญาต15 ปี หรือ 5,479 วัน และนำจำนวนวันมาหารกับวงเงินประมูล 4 งวด จะได้มูลค่าการใช้คลื่นเป็นรายวัน แล้วนำมูลค่าที่ได้มาคุณกับจำนวนวันที่ใช้งานคลื่นความถี่ในจนถึงวันยุติการออกอากาศ แล้วนำผลลัพธ์ดังกล่าวมาหักค่าใช้จ่ายค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) และค่าใช้จ่ายตามประกาศกสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่ออกอากาศเป็นการทั่วไป (มัสแครี่)  และผลประกอบกอบการที่มีกำไร เพราะฉะนั้นถือเป็นคำนวณค่าใช้คลื่นตามจริงเป็นรายวัน 

 ส่วนเหตุผลที่นำค่าประมูลมาคำนวณ 4 งวดนั้น เป็นตามคำสั่งม.44 ที่ทีวีดิจิทัลทุกช่อง จะจ่ายค่าประมูลเพียง 4 งวด จากเดิม 6 งวด เพราะฉะนั้นเมื่อทุกรายจ่าย 4 งวด ก็ต้องนำวงเงิน 4 งวดมาคำนวณ ไม่ได้นำวงเงินชนะประมูล เมื่อปลายปี 2556 มาคำนวณแต่อย่างใด 

“ผมยืนยันว่าการช่วยเหลือและการคืนเงินให้กับทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต รัฐได้ประโยชน์ เงินจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ และยังมีเงินคืนเงินให้กับทีวีดิจิทัล ซึ่งวงเงินคืนทีวีดิจิทัล น้อยกว่าเงินที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์​  ส่วนผลประโยชน์ทางอ้อม คือการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีปัญหาคนตกงาน แต่หากปล่อยให้ทีวีดิจิทัล ต้องปิดตัวโดยไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือใดๆ อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และมีคนตกงานจำนวนมากด้วย”