ไทยแห่นำเข้ารถหรูดันรายได้ กรมศุลปี62ทะลุเป้า



  • ปี 62 จัดเก็บรายได้108,523 ล้านบาทเกินเป้า 8หมื่นล้าน
  • 10 เดือนแรกเก็บอากรรถ“ปอร์เช่-เบนท์ลีย์”พุ่ง100%
  • หลังปี 61ยอดนำเข้ารถหรูสะดุดเพราะดีเอสไอ

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ  2562 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้108,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ  100,000 ล้านบาท หรือสูงกว่า 8,523 ล้านบาท คิดเป็น 8.5% และสูงกว่าคาดการณ์ที่กรมศุลตั้งไว้อยู่ที่ 108,000 ล้านบาท  จำนวน 523 ล้านบาท หรือ 0.5% แม้มีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและเงินบาทแข็งค่า

ทั้งนี้สาเหตุที่กรมศุลจัดเก็บรายได้เกินเป้าเนื่องจากในช่วง 10 เดือนแรก มีการจัดเก็บอากรขาเข้ารถยนต์สำเร็จรูปได้มากกว่า 28.2% ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอากรขาเข้ารถยนต์หรู ได้แก่ รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู (BWM) ปอร์เช่ (Porsche) เบนท์ลีย์ (Bentley) เป็นต้น ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรก บีเอ็มดับเบิลยู เก็บอากรขาเข้าได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 1.8% ส่วนปอร์เช่ และเบนท์ลีย์ ซึ่งมาจากผู้จัดจำหน่ายเดียวกัน คือบริษัทเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัดเก็บอากรได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 102.9%

“เมื่อปี 2561 กรมสอบสวนคดีพิเศษแห่งราชอาณาจักรไทย (ดีเอสไอ) มีการจับกุมรถหรูนำเข้าจำนวนมากเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการประเมินราคารถยนต์ ส่งผลให้การนำเข้ารถหรูในปี 61 ชะลอตัว แต่ในปีนี้กรมศุลได้ประกาศหลักเกณฑ์การนำเข้าชัดเจนว่าจะมีอัตราจัดเก็บอย่างไร ทำให้ผู้ประกอบการ มีความมั่นใจ ยอดนำเข้ารถยนต์หรูจึงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์หรูที่นำเข้ามาจากฝั่งยุโรป ”

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 สินค้านำเข้าที่จัดเก็บอากรได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล จำนวน 12,816 ล้านบาท ส่วนประกอบรถยนต์ 8,164 ล้านบาท  ยารักษาโรค 4,346 ล้านบาท เครื่องสำอาง 2,308 ล้านบาท รถยนต์โดยสาร 2,150 ล้านบาท

“ส่วนปี 2563 กรมได้รับเป้าจัดเก็บอยู่ที่ 111,000 ล้านบาท ซึ่งกรมคาดว่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้า โดยภาษีขาเข้าที่น่าจะเก็บได้มากที่สุดก็ยังเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ส่วนประกอบรถยนต์ เหมือนกับปี 62 ”

ทั้งนี้ กรมศุลตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรปี 2562 ได้ทั้งสิ้น 32,255 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,784 ล้านบาท โดยเป็นคดีจากการลักลอบถึง 20.7% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และยาเสพติดประเภท โคคาอีน โดยส่วนมากจะถูกลำเลียงมาจากประเทศเพื่อบ้าน  ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน รถยนต์ สำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก และยาเสพติดประเภท เคตามีน  เป็นต้น