“โคเน้ือสร้างชาติ” หรือ “โคอุบาทว์สร้างหนี้”



  • พิจารณาเงื่อนไขให้ดีก่อนกลายเป็น“เหยื่อ”

จากจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค.2562 “ประภัตร โพธสุธน” รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  นายอำพันธุ์   เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดห้องประชุมที่กระทรวงเกษตรฯ หารือกับนายสมชาย ดวงเจริญ ผู้ประกอบการบริษัท LS trading export import Co Ltd ฝ่ายลาว และนายหยางเจียง ผู้จัดการบริษัท LS chengkang ฝ่ายจีน  เพื่อค้าโคเนื้อร่วมกัน

ข้อมูลที่นายประภัตรเปิดเผยในวันนั้นระบุว่า ไทยไม่สามารถส่งโคเนื้อไปขายที่จีนได้โดยตรง ต้องผ่านทางลาว จึงต้องอาศัยบริษัทของลาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกจากจีนเป็นตัวกลางส่งออกโคจากไทยไปจีน

 ทางฝ่ายจีนได้กำหนดคุณสมบัติของโคที่จะรับซื้อว่า จะต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350 – 400 กิโลกรัม กำหนดราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 100 บาท  จากนั้นนายประภัตรได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ไปจัดทำรายละเอียดโครงการความร่วมมือครั้งนี้มา

ถัดจากนั้นอีก 6 วัน คือวันที่ 27 ส.ค.2562 นายประภัตร ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมเสนอครม. ขอกรอบเงินกู้วงเงิน  5,000 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการ “โคเนื้อสร้างชาติ”  โดยจะให้เกษตรกรเลี้ยงครัวเรือนละ 5 ตัว   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ปล่อยเงินกู้เกษตรกรไปลงทุนซื้อโคและอาหาร คิดอัตราดอกเบี้ย  1 % รัฐบาลชดเชยให้  3% วงเงินกู้ครัวเรือนละ 200,000 บาท  เริ่มต้นเฟสแรกกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 100,000 ตัว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา กระบวนการ “ตีปี๊บ” ก็เกิดขึ้น  มีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ จาก 18 จังหวัดยกขบวนกันมาที่กระทรวงเกษตร ขอบคุณที่เร่งเดินหน้าโครงการ “โคขุนสร้างรายได้” ซึ่งก็เป็นโครงการเดียวกับ “โคเนื้อสร้างชาติ”ที่ตั้งต้นไว้ตอนแรกแต่ชื่อเปลี่ยนไป

ไม่เพียงแต่ชื่อโครงการเท่านั้นที่เปลี่ยนไป เป้าหมายก็เปลี่ยนไปด้วย  จากเฟสแรก  100,000 ตัว ขยับมาเป็นทั้งโครงการ 1ล้านตัว เกษตรกร 200,000 ครัวเรือน เฟสแรก500,000 ตัว  เกษตรกร 100,000 ครัวเรือน โคที่จะซื้อมาขุนน้ำหนักตัวละ 230-250 กก. เกษตรกรได้เงินกู้รายละ 164,200 บาท  แบ่งเป็นค่าซื้อโค 120,000 บาท  ราคาตัวละไม่เกิน 24,000 บาท ค่าอาหารผสมเสร็จ (TMR) 43,200 บาท และเกษตรกรจ่ายค่าประกันภัยโค 1,000 บาท รัฐบาลสมทบ 1,000 บาท

โครงการนี้จะให้เกษตรกรเลี้ยงโค  4 เดือน เพื่อให้มีน้ำหนักจาก 230-250 กก.เพิ่มขึ้นเป็น420 กก.จำหน่ายตัวละ 42,000 บาท  หรือกก.ละ 100 บาท เบ็ดเสร็จเกษตรกรจะได้กำไร40,252 บาท หรือประมาณตัวละ 8,000 บาท  โดยนายประภัตรจะเสนอให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตร ให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอครม.ต่อไป

ไล่เลียงมาตั้งแต่ต้นเพื่อให้ทราบรายละเอียดและที่มาที่ไปของโครงการปั้นฝันในรอบนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูลในการตัดสินใจที่จะเข้าร่วมโครงการ พร้อมตั้งสติพิจารณาให้ดีกับความเป็นไปได้ของโครงการ เพราะนี่ไม่ใช่เงินให้เปล่า แต่เป็น “โคสร้างหนี้” อยู่ดีๆจะมีหนี้เกิดขึ้นพรวดเดียว 164,200 บาทต่อครัวเรือน

ที่สำคัญต้องดูที่มาที่ไปของโคที่จะซื้อมาเลี้ยงด้วยว่า สายพันธุ์ตรงตามที่ตลาดต้องการหรือไม่ ซึ่งนายประภัตรไม่ได้กล่าวถึงตรงนี้ว่าที่มาของโค จะเอามาจากไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากพ่อค้าหลอกขายโคไม่มีคุณภาพมาให้เกษตรกรเลี้ยงไปแล้วไม่โต น้ำหนักไม่เพิ่มตามที่วาดฝันไว้ นั่นหมายถึงการลงแรงฟรี เสียเวลาเปล่า

และต้องดูเงื่อนไขการประกันโคด้วยว่าครอบคลุมอย่างไรบ้าง เช่นกรณีโคตาย หรือเกิดโรคระบาด จะได้รับชดเชยเท่าไหร่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตายมาแล้วเคลมประกันไม่ได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขที่วางไว้ ซึ่งบริษัทประกันมักจะมีลูกเล่นตุกติกอยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้บริษัทได้เปรียบอยู่เสมอ

ยิ่งไปกว่านั้นการรับซื้อในราคากก.ละ 100 บาท มีเงื่อนไขและข้อตกลงที่ชัดเจนแค่ไหน หากถึงเวลาขายโค พ่อค้ามากดราคารับซื้อจะแก้ปัญหาอย่างไร ยิ่งถ้าเลี้ยงกันจำนวนมาก ผลผลิตล้นตลาดในบางช่วง เกษตรกรย่อมตกเป็นเบี้ยล่างแน่นอน จะรอขายส่งออกไปจีนอย่างเดียวอย่างที่นายประภัตรบอกรับซื้อจำนวนมากนั้น ก็ดูจะมีความเสี่ยงสูง หากไม่เป็นไปตามคาดขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ

ขอย้ำดังๆอีกครั้งว่า เงินที่จะเอามาเลี้ยงโคเป็น “เงินกู้” ที่เกษตรกรต้องรับผิดชอบใช้หนี้ด้วยตัวเอง และเป็นจำนวนไม่น้อย จึงต้องดูที่มาที่ไปและเงื่อนไขให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ สร้างภูมิคุ้มกันไว้ให้ดีๆ

โดยเฉพาะโครงการที่เร่งทำกันเร็วผิดปกติ มักจะมีปัญหาตามมาภายหลังเสมอ ส่วนหนึ่งเพราะขาดการศึกษาที่รอบด้าน อีกส่วนคือมีคนจ้องรอรับผลประโยชน์โดยอาศัยช่องโหว่ของโครงการ

ไม่ต่างอะไรกับพวกพ่อค้าที่มาหลอกขายพันธุ์สัตว์ พันธุ์พืชชนิดนั้นชนิดนี้ ในราคาแพง ให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วบอกว่าจะมีรายได้เดือนละเท่านั้นเท่านี้  จะรับซื้อในราคาสูง  พอได้ผลผลิตกลับตามหาตัวคนซื้อไม่เจอ หรือไม่ก็กดราคารับซื้อจนขาดทุนก็มี

เจ็บกันมาจนชิน ฝันแล้วฝันเล่าที่สลายไปตามสายลมแบบนับครั้งไม่ถ้วน ถ้าดีจริงตามที่ขายฝันป่านนี้เกษตรกรไทยทุกคนรวยกันไปหมดตั้งนานแล้ว

คนชายขอบ