แก้ปัญหา “สินเชื่อเงินทอน” สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินฯดันสุดลิ่มกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน



  • สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย หนุนยกระดับมาตรฐานการประเมิน
  • เร่งผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน
  • ชี้หากรัฐบาลผลักดันจริงจัง 1 ปีก็น่าจะสำเร็จ เชื่อส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยแน่นอน

นายวราพงษ์ เกียรตินิยมรุ่ง นายกสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (VAT) เปิดเผยว่า จากพันธกิจของการจัดตั้งสมาคมฯ โดยมีหัวใจสำคัญคือการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐาน สำหรับการประกอบวิชาชีพประเมินมูลค่าทรัพย์สินสู่ระดับสากล และมีความประสงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สิน โดยเชื่อว่าบทสรุปจากการประชุมสภานักประเมินราคาแห่งอาเซียน ครั้งที่ 22 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 ต.ค.นี้ คาดจะนำไปสู่การผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาทรัพย์สินในประเทศไทยให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียน หรือ AVA (เอว่า) กล่าวว่า สมาคมผู้ประเมินราคาแห่งอาเซียนมีสมาชิก 8 ประเทศ คือ ไทย, มาเลเซีย, เวียดนาม,  กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, บรูไน และอินโดนีเซีย โดยเอว่าเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การพัฒนามาตรฐาน การนำเทคโนโลยี่ใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงการแก้ปัญหาด้านการประเมินค่าทรัพย์สินของประเทศสมาชิก อีกทั้งยังเชื่อมโยงกับสมาคมผู้ประเมินค่าในภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสมาคมในทวีปยุโรป ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลนำความรู้ใหม่ๆ มาพัฒนามาตรฐานให้กับประเทศสมาชิก

กิตติ พัฒนพงศ์พิบูล

“ส่วนตัวมองว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยยกระดับวิชาชีพการประเมินราคา เนื่องจากที่ผ่านมา เราไม่มีกฎหมายควบคุมวิชาชีพนี้ และไม่มีหน่วยงานตามกฎหมายที่จะกำกับดูแล โดยร่างกฏหมายดังกล่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบแล้ว อยู่ที่กฤษฎีกา จากนั้นจะนำเข้าสู่สภาฯเพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป”

ทั้งนี้ผลจากการที่ไม่มีการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในขณะนี้ ก็มีผลกระทบล่าสุด คือ การประเมินราคาหลักประกันที่อยู่อาศัยสูงเกินจริง หรือที่เรียกกันว่า “สินเชื่อเงินทอน” จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกนโยบายในการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ในภาวะชะลอตัวอยู่ในขณะนี้ โดยทางแก้ปัญหาจึงควรเร่งผลักดันกฎหมายวิชาชีพการประเมินราคาฯ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยคาดหากผลักดันจริงจัง 1 ปีน่าจะสำเร็จ นายกิตติ กล่าว