

- เปิดโผหุ้น 5 กลุ่มเสี่ยง
- เจอผลกระทบค่าแรงพุ่ง
- รัฐบาลใหม่เตรียมอัดนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บล.เอเซียพลัส ออกบทวิเคาะห์ระบุว่า มีโอกาสที่รัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้านโยบายตามที่หาเสียงไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยหลักๆให้น้ำหนักที่นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท/วัน หรือปรับเพิ่มราว 23% จากปัจจุบันอยู่ที่ 330 บาท/วัน จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่ในทางตรงกันข้ามจะกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ โดยประเมินว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้
1.กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉลี่ยค่าแรงคิดเป็นสัดส่วนรวม 10-15% ของต้นทุนก่อสร้าง เอเซียพลัสคาดว่าหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 23% จะทำให้บริษัทรับเหมามีอัตรากำไรขั้นต้นลดลงราว 2% โดยปัจจุบันบริษัทรับเหมาฯมีกำไรขั้นต้น( Gross margin) เฉลี่ย 8-12% และมี Net Profit margin 2-6% โดยบริษัทที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ บริษัทที่มีอัตรากำไรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม และใช้แรงงานสูงอย่าง ITD, NWR
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทรับเหมามีการปรับวิธีการทำงานด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ ลดการใช้แรงงานคน และใช้วิธี Sub contract งานเป็นส่วนๆออกไปให้กับผู้รับเหมาช่วง โดยเชื่อว่างานประมูลภาครัฐจำนวนมากที่กำลังจะออกมา น่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมก่อสร้างลดลง ส่งผลต่ออัตรากำไรของงานก่อสร้างใหม่ๆในอนาคตที่จะดีขึ้น เมื่อถัวเฉลี่ยกับงานใน Backlog เดิมที่จะถูกกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง
2.กลุ่มค้าปลีก พบว่าโดยเฉลี่ยอุตสาหรรม จะมีค่าใช้จ่ายพนักงานราว 30% ของ SG&A และ 6% ของยอดขายรวม โดยประเมินว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อกลุ่มที่มีการใช้แรงงานทักษะทั่วไป ซึ่งมีค่าจ้างที่ต่ำกว่า 400 บาท เช่น กลุ่มร้านสะดวกซื้อ CPALL, ไฮเปอร์มาร์เก็ตและค้าส่ง BJC- MAKRO และ ห้างสรรพสินค้า ROBINS
ขณะที่กลุ่มร้านค้าSpecialty Store (HMPRO-COM7 และ BEAUTY) คาดผลกระทบมีจำกัด เนื่องจากเน้นไปที่กลุ่มพนักงานที่ต้องมีทักษะการขายสูงกว่า ทำให้มีโครงสร้างค่าแรงที่สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว และมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่น อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภคคาดช่วยชดเชยผลกระทบ
3.กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ สัดส่วนราว 5-8% ของต้นทุนรวม(บางบริษัทมีแรงงานอยู่ต่างประเทศอาทิ DELTA- HANA ราว 2%ของต้นทุนรวม) เบื้องต้นฝ่ายวิจัยคาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มชิ้นส่วนฯ ราว 11.7% จากปัจจุบัน นำโดย SVI -HANA – KCE และDELTA ตามลำดับ
4.กลุ่มเกษตรและอาหาร มีค่าใช้จ่ายแรงงานในประเทศ ราว1.5-8% ของต้นทุนรวม หากรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย23% เป็น 400 บาท/วัน จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรกลุ่มเกษตรและอาหารราว 32.9% จากปัจจุบัน
5.กลุ่มยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายแรงงานทางตรงราว5%-10% ของยอดขาย(ยกเว้นPCSGH งวดไตรมาส3ปี61นับเฉพาะโรงงานในไทยมีต้นทุนแรงงาน 17.4% ของยอดขาย) และ SAT มีพนักงาน อยู่ในแผนกผลิตจำนวน 1,396 คน กรณีที่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ23% จะส่งผลให้ค่าจ้างพนักงานในแผนกผลิตเพิ่มเป็น 134 – 142 ล้านบาท/ ปี หรือกระทบต่อกำไร 20 – 30 ล้านบาท/ปี เป็นต้น