เอสเอ็มอีเฮ…ไทยพาณิชย์ตุนเงินปล่อยกู้7หมื่นล้าน



  • แบงก์ไทยพาณิชย์ตุนเงินปล่อยกู้เอสเอ็มอี 7 หมื่นล้านบาท
  • เอสเอ็มอีฟื้นรับอานิสงส์รัฐอัดเงิน-เบิกจ่ายงบประมาณ
  • เล็งปล่อยกู้โรงแรมเถื่อนนำเงินไปปรับปรุงอาคารหลังได้รับนิโทษกรรมจนถึงปี 64

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อไว้ 70,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งนี้หลังจากรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำงาน มีการใช้จ่ายงบประมาณของทุกกระทรวง ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งนับเป็นโอกาสของเอสเอ็มอีที่จะขายสินค้าได้มากขึ้น และความต้องการใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารมุ่งเน้นสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบการ นำเงินไปปรับปรุงโรงแรมให้เป็นไปตามกฎหมาย และยื่นขอใบอนุญาตประกอบการให้ถูกต้อง หลังจากรัฐบาลใช้ม. 44 นิโทษกรรมให้โรงแรมขนาดเล็ก ที่ไม่มีใบอนุญาตที่ก่อสร้างก่อนปี 2559 ไปปรับปรุงตามกฎหมายอาคาร และยื่นขออนุญาตได้ก่อนปี 2564 และการปรับปรุงอาคารโรงแรมจะใช้เงินลงทุน 300,000-500,000 บาทต่อห้อง ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น


“การปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ มีผลกระทบต่อเอสเอ็มอีน้อย และไม่เป็นปัญหา เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนด้านแรงงานปรับขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งสามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานได้ ยกตัวอย่างเช่น หากว่าจ้างพนักงานบัญชีเดือนละ 20,000 บาท หากนำโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปมาใช้ จะเสียค่าใช้จ่ายเพียงหลัก 1,000 บาทต่อเดือน หากทำธุรกิจสปา ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก หากมีการปรับตัว มีการบริหารจัดการที่ดี มีวิธีคิดที่ดี สามารถดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น หากยอดขายเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ส่งผลกระทบ”


ทั้งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหา และเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลของธนาคาร ส่วนใหญ่เกิดจากเอสเอ็มอีที่มีคู่ค้า หรือช่องทางการขายเพียงแห่งเดียว เมื่อสินค้าที่ผลิตหรือบริการ มีคำสั่งซื้อหรือเข้ามาใช้บริการลดลง เอสเอ็มอีในกลุ่มนี้ประสบปัญหาทันที ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องหาตลาดให้มากขึ้น เพียงกระจายความเสี่ยง โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพยายามเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งจัดอบรมเพิ่มความรู้ และหาช่องทางการตลาดให้มากขึ้น มีการนำสินค้าเข้าไปขายในช่องทางออนไลน์


อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลัง ธนาคารจึงมุ่งมั่นดึงศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางด้านการเพิ่มยอดขายและผลกำไร หรือการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ และอัพไซส์ธุรกิจจากร้อยล้านสู่พันล้าน ด้วยกลยุทธ์สำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่เอื้อให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพ ประกอบด้วยปัจจัย 4 ที่เอสเอ็มอีต้องมี คือ 1.องค์ความรู้ 2.ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน 3.เครือข่ายธุรกิจ และ4.ดิจิทัลโซลูชั่น ธนาคารได้พัฒนา SCB SME Academy หลักสูตรบ่มเพาะศักยภาพเอสเอ็มอีแบบ 360 องศา ด้วยขุมกำลังและคลังความรู้จากประสบการณ์ตรงของ 19 นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จตัวจริงร่วมเป็นที่ปรึกษา หรือพี่เลี้ยง ติวเข้มเพื่อส่งต่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนสู่เอสเอ็มอีรุ่นน้อง


นางพิกุล กล่าวอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกธนาคารปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้ว 40,000 ล้านบาท แต่มีสินเชื่อชำระคืนเข้ามา 35,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อเพิ่มขึ้นสุทธิ 1.2 % หรือมียอดสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 340,000 ล้านบาท ขณะที่ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 8 % หรือ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ในช่วงครึ่งปีหลังธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 70,000 ล้านบาท และสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเป็นสินเชื่อที่เป็นเงินทุนหมุนเวียนสูงถึง 70 % และเอสเอ็มอีที่ขอใช้สินเชื่อเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป ส่วนเอ็นพีแอลอยู่ที่ 7.8 % ของสินเชื่อ และส่วนใหญ่เป็นเอ็นพีแอลที่ค้างอยู่เดิม สินเชื่อที่ปล่อยใหม่เป็นเอ็นพีแอลน้อยมาก โดยในปีนี้ธนาคารตั้งเป้ารักษาเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 8 %