“เศรษฐา” แนะอุดรูรั่วก่อนเรือจม! เปิด 8 แนวทางเตรียมพร้อมรับมือหลังมรสุมจบ

  • ควรจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ
  • หนุนปรับโครงสร้างการเก็บภาษี
  • เร่งแก้ปัญหาการบินไทยให้จบ

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เผยบทความเรื่อง “มองข้ามช็อตเตรียมความพร้อมหลังมรสุมลูกนี้จบ” ระบุว่า

ช่วงเวลานี้เราทุกคนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกๆ ฝ่ายที่วุ่นวายกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำเหมือนอุดรูรั่วเพื่อมิให้เรือจม

แต่หมดสิ้นพายุหนนี้เราก็ต้องเตรียมตัวเพื่อเดินทางต่อ ก็เลยเขียนบทความนี้เพื่อนำเสนอมุมมองของผมให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนช่วยกันพิจารณาและช่วยกันคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ข้างหน้าต่อไป

1.ช่วงนี้ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าวัคซีน และ วัคซีนอย่างเดียว ขอให้มีเพียงพอ จัดหาอย่างรวดเร็ว และการกระจายอย่างเสมอภาค รัฐบาลควรเตรียมวัคซีนช็อตที่ 3 เพื่อสร้างภูมิในการรุกหนักของโควิดรอบนี้ แต่ก็ต้องไม่ลืมมองข้ามช็อตไปถึงวัคซีนปีหน้าและปีถัดๆ ไปที่เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ด้วยครับ เพราะโควิดจะเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี เรามีบทเรียนในปีนี้แล้ว ปีหน้าต้องประเมินปริมาณวัคซีนให้ดี

ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ สั่งวัคซีนไปตั้ง 5 เท่าของจำนวนประชากรในรอบนี้ ของไทยเราปีหน้าสั่งไปเลย 3 เท่าของจำนวนประชากรไทย มีคนไทย 67 ล้านคน ฉีดคนละ 3 เข็มเป็น 200 ล้านโดส ประเมินราคา โดสละ 1,000 บาท ตกเป็นเงิน 2 แสนล้าน ดูเหมือนตัวเลขเยอะแต่ จริงๆ ก็พอๆ กับมูลค่าโครงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยระยะสั้นที่รัฐบาลออกมารวมกันครับ แต่นี่ผมเสนอให้ลงทุนกับสวัสดิภาพและความมั่นใจของประชาชนระยะยาวด้วย อย่าลืมว่าถ้าวัคซีนไม่มา ทุกอย่างก็ไม่เกิด ทั้งนี้ปีหน้าวัคซีนที่ผลิตคิดค้นโดยคนไทยก็จะมีแล้วตั้ง 3 เจ้า ไม่ใช่แค่รับจ้างผลิตแล้ว เราต้องสนับสนุนจะทำให้วัคซีนยิ่งเข้าถึงง่าย เหมือนที่คิวบาเค้ายังมีแล้วเลยเป็นทางเลือก

2.การเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ก็จำเป็น ดูตัวอย่างที่ยุโรปหรือสหรัฐฯ ที่เค้าออกแผนงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเรียบร้อยแล้ว ฟาก สหรัฐฯ ปธน ไบเดนเปิดตัวแผนลงทุนในโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของสหรัฐฯ มูลค่ารวม 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่างบที่ใช้ช่วงวิกฤติเมื่อสิบกว่าปีก่อนถึง 4 เท่า ทางรัฐสภายุโรปก็เพิ่งอนุมัติงบประมาณ 3 หมื่นล้านยูโร ในการสนับสนุนโครงการด้านการขนส่ง ดิจิทัล และพลังงานจนถึงปี 2570 เมื่อมีแผนลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือการจัดซื้อ จัดจ้าง การจ้างงานปริมาณมหาศาลตามมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

3.ถ้าต้องลงทุนเพิ่มก็ต้องมีเงินทุน แหล่งเงินอย่างแรกที่รัฐบาลต้องพิจารณาก็คือการกู้ ที่ได้รับความเห็นชอบให้กู้เงินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านล้านบาท ก็ต้องกู้ไปเพราะเราก็ต้องแข่งกับประเทศอื่นที่เร่งกู้เหมือนกัน และแนะนำรัฐบาลต้องขอขยายสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ครับ ตอนนี้ของเราอยู่ที่ประมาณ 60% มองไปรอบๆ ตัวหลายๆ ประเทศเค้าก็ปรับอัตราสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงขึ้น เราก็ควรทำเหมือนกัน ตอนนี้ต่างคนต่างก็ต้องการเงินไปอัดฉีดเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในประเทศของตัวเอง ถ้าไม่รีบกู้เดี๋ยวจะโดนคนอื่นดูดเงินในระบบไปหมดเสียก่อน จะคล้ายกับกรณีวัคซีนที่จะหาทีหลังก็หาไม่ได้แล้วครับ

4.เมื่อพูดถึงแหล่งรายได้ อีกเรื่องที่ต้องกลับมาดูก็คือการปรับโครงสร้างการเก็บภาษี เพราะเป็นแหล่งรายได้ประจำของรัฐบาลที่จะถูกนำมาใช้ในการใช้หนี้และดำเนินการบริหารโครงการต่างๆ ซึ่งก็วนกลับมาที่เรื่องของภาษีความมั่งคั่ง ควรมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่มจากผู้ที่มั่งคั่งกว่าในรูปแบบต่างๆให้เกิดภาวะการเงินสมดุลของประเทศ

5.การพยุงราคาสินค้า หรือจะเรียกว่าประกันราคาสินค้า สำหรับสินค้าเกษตรก็จำเป็น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย รัฐบาลต้องช่วยรับภาระเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตรแทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียวและประชาชนระดับรากหญ้าจะได้พอเลี้ยงตัวผ่านวิกฤตินี้ไปได้

6.GDP ของเราพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเยอะมาก ดังนั้นต้องเร่งแก้ปัญหาการบินไทยให้จบ ต้องฉวยโอกาสตอนนี้เอาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กร ให้จบ โปร่งใส เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นเราจะได้มีสายการบินหลักที่ไม่ง่อยเปลี้ยและมีประสิทธิภาพที่จะนำนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทย

7.การลงทุนจากต่างชาติอั้นมาพอสมควรจากสถานการณ์ 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ปริมาณการลงทุนจะดีดตัวขึ้นแน่นอน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนนี้เราเริ่มโดนสิงคโปร์ เวียตนาม อินโดนีเซียทิ้งห่างไปเยอะ มาตการดึงดูดการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือสิทธิประโยชน์ที่ต้องตอบโจทย์บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องรีบจัดการและประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน

8.การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาสู่ระบบการเมืองในสายตาประชาชน จะแก้รายมาตราหรือจะแก้ทั้งฉบับก็ต้องหาทางตกลงกันให้ได้ อย่าลืมนะครับว่าเศรษฐกิจและการเมืองแยกกันไม่ขาด ถ้าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแต่องค์ประกอบทางการเมืองยังเป็นชนวนของความขัดแย้งอยู่ ประชาชนไม่มีความมั่นใจ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็จะชะลอไปด้วย

นี่เป็นเพียงความเห็นของผมคนเดียว ผมเชื่อว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางเศรษฐกิจ สังคมอีกหลากหลายสาขาอาชีพก็ย่อมมีความเห็นมากมาย อยากให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นออกมาเพื่อรัฐบาลและส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจเยอะๆ ครับ