- กสิกรไทย กำไรครึ่งปีแรก 1.9 หมื่นล้านบาททรุดฮวบ 7.88 %
- ไทยพาณิชย์ ครึ่งปีกำไรลดลง 2,343 ล้านบาท
- แบงก์กรุงเทพ สวนเศรษฐกิจกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 ยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก เมื่อเทียบกับที่ขยายตัว 2.80 % ในไตรมาส 1 ปี 2562 เนื่องจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงเผชิญแรงกดดันต่อเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนยังสามารถประคองทิศทางการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง แต่คงต้องติดตามสถานการณ์หนี้และการฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือน รวมถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี
ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับครึ่งปีแรกปี 2562 จำนวน 19,973 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 2 ปี 2562 จำนวน 9,929 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานสำหรับครึ่งปีแรกปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกปี 2561 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 19,973 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,709 ล้านบาท หรือ 7.88% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 2,960 ล้านบาท หรือ 6.16% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.30% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 5,475 ล้านบาท หรือ 17.46% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยและรายได้จากผลิตภัณฑ์ตลาดทุนลดลง รวมทั้งการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ภายใต้การชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อรายได้ของธนาคาร ธนาคารจึงพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 1,087 ล้านบาท หรือ 3.33% แม้ว่าจะมีการตั้งสำรองเกษียณอายุของพนักงานเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงผลประโยชน์ของพนักงานตามนโยบายการจ้างงานเฉพาะของธนาคารที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน มีผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.89%
สำหรับผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 2 ปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,929 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนจำนวน 115 ล้านบาท หรือ 1.15% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 518 ล้านบาท หรือ 2.05%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 2 ของปี 2562 จำนวน 36,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง กำไรจากการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ในไตรมาสนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนตรวจสอบ) จำนวน 10,976 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.9% จากไตรมาสก่อน และลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2562 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 20,132 ล้านบาท ลดลง 2,343 ล้านบาท หรือ 10.42 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 22,475 ล้านบาท
ในไตรมาส 2 ของปี 2562 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 25,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตอย่างต่อเนื่องของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเป็นผลจากการปรับพอร์ตสินเชื่อของธนาคารด้วยการเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัวประมาณ 3% จากปีก่อน
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 10,505 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าธุรกิจประกันชีวิตของ SCB Life ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 6.6% จากการฟื้นตัวของรายได้หลักจากค่าธรรมเนียมสุทธิ (recurring fee) การเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศและกำไรจากเงินลงทุน
ในไตรมาสนี้ การเติบโตของค่าใช้จ่ายชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อน โดยไม่มีผลกระทบของค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานจากกฎหมายแรงงานใหม่ นอกจากนี้การดำเนินงานของโครงการ Transformation กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายและส่งผลให้ค่าใช้จ่ายจากการลงทุนในโครงการที่อยู่ในระดับสูงกำลังสิ้นสุดลงเช่นกัน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จาก 51.6% ในไตรมาส 1 ของปี 2562 เป็น 46.2% ในไตรมาส 2 ของปี 2562
ทางด้านธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย ไตรมาส 2 ปี 62 มีกำไรสุทธิ 9,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7 % จากไตรมาส 2 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 0.4 % และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.36 % ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 1.0 % สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินตราต่างประเทศ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเล็กน้อยจากค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งลดลงตามสภาวะตลาดทุน ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมเพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและสัดส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้จากการดำเนินงานยังคงอยู่ที่ประมาณ 57 % และ 43 % ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากความตั้งใจในการกระจายแหล่งที่มาของรายได้ สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 45.3 %