เศรษฐกิจชะลอตัว!ครม.ขยายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม7% ไปอีกปี



  • ”อุตตม”มั่นใจเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
  • กระตุ้นเอกชนบริโภค-ลงทุนต่อเนื่อง
  • รัฐบาลยอมสูญรายได้ 2.4 แสนล้านบาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามประมวลรัษฎากร ให้ขยายอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่ 7% ออกไปอีก 1 ปี จากที่สิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.2562 เป็นวันที่ 30 ก.ย.2563 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยังไม่เหมาะสมที่จะกลับไปใช้อัตราเดิมที่ 10% โดยกระทรวงการคลังจะประเมินการใช้อัตรามูลค่าเพิ่มแบบปีต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อให้การประเมินและติด ตามทิศทางเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้อง

“การตัดสินใจคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% เพราะไม่ต้องการให้อัตราภาษีมีผลกระทบด้านกับเศรษฐกิจ โดยพิจารณาแล้ว เห็นว่า อัตราภาษี 7% มีความเหมาะสมที่สุดและยังเป็นอัตราเดิมเหมือนกับปีก่อน จึงถือว่าเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ส่วนสาเหตุที่ไม่ขยายระยะเวลาเป็น 2 ปี เพราะมองว่า การต่ออายุภาษีแบบปีต่อปีจะช่วยทำให้ประเมินทิศทางเศรษฐ กิจได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น”

ส่วนผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เดือนแรกของปี2562 (ม.ค.-ก.ค.) ติดลบ 0.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว มีสาเหตุที่สำ คัญมาจาก 2 ส่วนคือ 1.การบริโภคภายในประเทศลดลง ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มเก็บได้น้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ2.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศลดลง เนื่องจากเงินบาทแข็งค่า แต่ในเดือนส.ค.นี้ กรม สรรพากรรายงานว่า ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเริ่มดีขึ้นแล้ว และไม่ติดลบ โดยเดือนส.ค.จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มาก กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.4% มาจากการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น และเริ่มกลับมาเป็นบวก ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกไปเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาเนื่องจากภาวะ เศรษฐกิจชะลอตัว จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวลงไปอีก โดยพยามเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโดยคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% เท่าเดิม ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 240,000 ล้านบาทต่อปี โดยกระทรวงการคลังระบุถึง การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่เดิม เนื่องจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี อยู่ในช่วงระหว่าง 3.3-3.8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวในระดับเดียวกับปี2561 ที่สำคัญอัตราภาษีดังกล่าว ยังสนับสนุนการขยายตัวของภาค เอกชน ทั้งทางด้านการลงทุน การบริโภคและยังช่วยเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ

นอกจากนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7% บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 460,000 ล้านบาท และมีทุนสำรองเงินระ หว่างประเทศอยู่ที่ 212,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ 40.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาย ในประเทศ (จีดีพี) ทั้งนี้ การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ครม.มีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาแบบปลายเปิด ซึ่งหมายถึงเสนอให้กรมสรรพากรเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% ตลอดไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาขยายระยะเวลาออกไปปีต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอขยายอัตราภาษีมาแล้วเกือบ 20 ปี หรือ 20 ครั้ง.