เปิดเบื้องหลังจัดตั้งครม.”บิ๊กตู่”



  • จัดตั้งครม.บิ๊กตู่ ดุเดือด!
  • “สุริยะ” ได้คืน “พลังงาน” 
  • “สมคิด” ยอมรับความพ่ายแพ้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องหลังการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คนที่  29 สมัยที่  2 นั้น ได้เกิดความยุ่งยากในการจัดสรรแต่งตั้งครั้งนี้ โดยก่อนการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ เป็นผู้ไปเจรจากับบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะมีโอกาสรวมตัวการตั้งรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์​ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย 

พรรคแรกที่พล.อ.ประวิตร ไปเจรจา คือ พรรคภูมิใจไทย  ซึ่งขอเอา กระทรวงคมนาคม ไปอันดับแรก และควบรองนายกรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะออกมาปฎิเสธการไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์​ เป็นนายกรัฐมนตรี  และหลังการเลือกตั้งแล้ว พล.อ.ประวิตร ยังยืนยันที่จะให้พรรคภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ร่วมรัฐบาล  เมื่อเป็นเช่นนั้น ทางพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยกลุ่มสามมิตร ได้รับทราบว่า กระทรวงเศรษฐกิจ ได้หลุดมือไปแล้ว  ดังนั้นหัวหน้าพรรรคพลังประชารัฐ และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เลขาธิการพรรค ก็ได้ขอพบพล.อ.ประวิตร ที่บ้าน เพื่อขอสอบถามเรื่องนี้ว่า ได้ให้กระทรวงใดบ้างให้พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์  แล้วเหลือกระทรวงเศรษฐกิจให้กับพรรคพปชร.หรือไม่  แต่กลับได้รับคำตอบจากพล.อ.ประวิตร ว่า ผมไม่บอก 

ทั้งนายอุตตม และนายสนธิรัตน์ ได้พยายามที่จะอธิบายว่าพรรคพลังประชารัฐ ต้องมีกระทรวงเศรษฐกิจไว้บ้าง เพื่อจะได้ทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง เพื่อทำให้สำเร็จลุลวงได้  และเพื่อสานต่อนโยบายเดิมให้บรรลุเป้าหมาย ปรากฎว่า ทั้งสองคน ได้รับคำตอบว่า “มึงเป็นใคร จะมาถามกู” ทั้งสองก็เลยพูดไม่ออก จึงนำเรื่องดังกล่าวมาหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์​ และกลุ่มสามมิตร ปรากฎว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขอไปเจรจากับพล.อ.ประวิตรเอง แต่ผลการเจรจาไม่ได้เป็นที่เปิดเผย แต่มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยความดุดัน ขัดแย้งหนักมาก ถึงขั้นที่พล.อ.ประวิตร ต้องโทรศัพท์กลับไปมาหาแกนนำสามมิตร เพื่อปรับความเข้าใจกันใหม่  แต่ทั้งหมดไม่ยอมรับสาย 

โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้เกิดการป่วนในการประชุมเลือกประธานสภา และรองประธานสภา  จากเดิมพล.อ.ประวิตร ได้เลือกให้นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา ขณะที่นายสุริยะ นายสมศักดิ์ เสนอนายสุชาติ ตันเจริญ เป็นคู่ชิงประธานสภากับนายชวน  ทำให้พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องไปหานายสุริยะ เพื่อขอให้ยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น  

ขณะที่นายสุริยะ แจ้งว่า การเลือกตั้งได้ใช้เ่งิน เพื่อการตั้งพรรค ตั้งสาขา สรรหาบุคลากรมาทำงานให้พรรคครั้งนี้ใช้เงินราว 500 ล้านบาท เพราะฉะนั้นก็ควรได้ตำแหน่งบ้าง 

แต่สุดท้ายการร้องขอของพล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ เป็นผลสำเร็จ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น จึงยุติลง และสามารถตกลงตำแหน่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้ และในที่สุด เมื่อตกลงกันได้แล้ว นายสุริยะ จึงได้เดินทางไปญี่ปุ่น โดยรายชื่อครม.ทั้งหมด ได้ตกลงกันเมื่อกลางดึกของวันที่  11 มิ.ย.2562

และบ่ายวันนี้ (12 มิ.ย.) แต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล ทยอยเข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ว เพื่อรับทราบตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลแล้ว และหลังจากนั้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้คุยกับคนใกล้ชิดว่า ยอมรับผลการจัดตั้งครม.ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการแล้ว และจากนี้ไปก็ไม่ต้องเรียกตนเองว่า รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจแล้ว เพราะกระทรวงเศรษฐกิจ ได้กระจายไปอยู่หลายพรรคการเมืองแล้ว ไม่ได้อยู่พรรคเดียวกัน เหมือนที่ผ่านมา

สำหรับโผคณะรัฐมนตรี(ครม.) บิ๊กตู่ คนที่29 สมัยที่  2 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนนตรี 

รองนายกรัฐมนตรี 
– พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ 
– นายวิษณุ เครืองาม 
– นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 
– นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฐ์​ 
– นายอนุทิน ชาญวีรกุล

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
– นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ส่วนกระทรวงต่างๆ ดังนี้  
กระทรวงกลาโหม
– พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา
กระทรวงมหาดไทย 
– พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
– นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย 
กระทรวงพาณิชย์ 
– นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ 
– นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจิโกศล รมช.พาณิชย์. 
กระทรวงการคลัง
– นายอุตตม สาวนายน 
– นายอนุชา นาคาศัย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)​
– นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
กระทรวงยุติธรรม
– นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 
กระทรวงพลังงาน 
– นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
– นายเฉลิมชัย  ศรีอ่อน  รมว.เกษตรฯ
– นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ  
กระทรวงอุตสาหกรรม
– นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 
กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
– นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ
กระทรวงแรงงาน 
– นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง 
กระทรวงสาธารณสุข 
– นายอนุทิน ชาญวีรกุล รมว.สาธารณสุข
กระทรวงคมนาคม 
– นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  รมว.คมนาคม
– นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม
กระทรวงศึกษาธิการ 
– นายณัฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ
– นางกนกวรรณ​ วิลาวัลย์​  รมช.ศึกษา
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
– นายจุติ ไกรฤกษ์​ 
กระทรวงทรัพยากรและส่ิงแวดล้อม
– นายวราวุธ ศิลปอาชา
กระทรวงวัฒนธรรม 
– นายอิทธิพล  คุณปลื้ม
กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 
– นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ 
กระทรวงการต่างประเทศ​
– นายดอน ปรมัตถ์วินัย