

“ภาวะหัวใจล้มเหลว” หรือ Heart Failure เกิดจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติไม่ตอบสนองต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
แต่ไม่ได้หมายความว่า หัวใจจะหยุดทำงาน แต่เป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถทำงานได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้การทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งปกติเป็นเรื่องง่ายกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น แต่หากเราไม่สังเกต หรือป้องกัน ปล่อยให้อาการรุนแรงอาจจะนำไปสู่ “ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน” หรือ “ภาวะหัวใจวาย” ได้ในที่สุด
ซึ่งอาการหลักๆ คือ ภาวะคั่งน้ำและเกลือ เราลองมาเช็ค 7 อาการที่จะเป็น “สัญญาณ”บ่งชี้ ว่า หัวใจของเรากำลังทำงานผิดปกติอยู่
หายใจไม่เต็มอิ่ม-นอนราบไม่ได้
ภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีของเหลวค้างในปอดมากขึ้น และเป็นสาเหตุของน้ำท่วมปอด ซึ่งอาจทำให้มีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอกเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การเดิน หรือขึ้นบันได โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หายใจไม่เต็มอิ่มเมื่อนอนราบ” โดยเมื่อนอนราบอาจยิ่งทำให้คุณรู้สึกหายใจลำบาก จึงจำเป็นต้องนอนในท่านั่งหรือหนุนศีรษะให้สูงขึ้นด้วยหมอนหลายๆ ใบ
มีอาการไอมากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน มักจะตื่นกลางดึก เพราะอาการไอ หอบ หรือหายใจลำบาก


เหนื่อยอ่อน
ภาวะหัวใจล้มเหลวทำให้เลือดมีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายลดลง แต่กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายยังคงต้องการออกซิเจนเพื่อเป็นพลังงาน ทำให้ภาวะตึงเครียดในกล้ามเนื้อ โดยอาจจะรู้สึกเหนื่อยจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันของตัวเองได้ตามปกติ
หายใจถี่-หัวใจเต้นเร็ว
หากคุณรู้สึกว่าการเดินขึ้นบันไดทำให้หายใจถี่กว่าปกติ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ขณะที่หัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเพื่อชดเชยความสามารถในการสูบฉีดเลือดให้ไปเลี้ยงทั่วร่างกายอย่างพอเพียงนั่่นเอง
อาการบวมของข้อเท้า ขาและท้อง
เสื้อผ้าหรือรองเท้าที่ใส่อาจคับขึ้น จากอาการบวมเนื่องจากมีของเหลวคั่งที่บริเวณขา ข้อเท้า หรือในช่องท้อง รวมการบวมของตับและไต
เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็ว
การคั่งของของเหลวในทางเดินอาหารอาจส่งผลต่อการย่อยอาหารและอาจเป็นสาเหตุให้รู้สึกเบื่ออาหาร หรือไม่สบายเมื่อรับประทานอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัดแน่นท้อง มีน้ำหนักลดมากกว่า 5 กิโลกรัมในเวลา 6 เดือน
ขณะที่ภาวะหัวใจล้มเหลวที่ทรุดหนักลง อาจมีผลทำให้ต่อการบวมน้ำอย่างรวดเร็ว น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 กิโลกรัม ใน 1 สัปดาห์ เนื่องจากมีการสะสมของเหลวในร่างกาย


ปัสสาวะลดลง
การสูบฉีดเลือดที่ไม่ดี ทำให้ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ลดลง ทำให้ไตขจัดน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้ลดลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ความถี่ในการปัสสาวะลดลง
หากเช็คแล้ว พบสัญญาณเหล่านี้เกิดขึ้นกับคุณ แค่มากกว่า 3 ข้อ ก็ควรพบแพทย์เพ่ือตรวจสอบการทำงานของหัวใจ ว่า หัวใจของเราอยู่ในภาวะล้มเหลวหรือไม่ เพราะหากเป็นไม่มาก แพทย์สามารถที่จะแก้ไขได้แน่นอน