- ไทยพาณิชย์ประเมินเศรษฐกิจปีนี้และปีหน้าโตเท่ากันที่ 2.8%
- สงครามการค้าที่ยืดเยื้อ กระทบ “ส่งออก-ท่องเที่ยว-กำลังซื้อในประเทศ”
- สินเชื่อไร้หลักประกัน “บัตรเครดิต-ลีสซิ่ง-สินเชื่อบุคคล”พุ่งสะท้อนการเงินครอบครัวเปราะบาง
นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อีไอซีคาดเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2563) จะขยายตัวที่ 2.8% ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวต่อเนื่อง และภาระหนี้ครัวเรือนที่จะกดดันกำลังซื้อในประเทศ ความเสี่ยงด้านต่ำจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อและความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง
ทั้งนี้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ที่ 0.2% ในส่วนของภาคอุปสงค์ในประเทศ การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 2562 เล็กน้อย ตามอุปสงค์ของการส่งออกที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน ประกอบกับการก่อสร้างภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอลงเช่นกันจากหลายปัจจัยกดดัน ได้แก่ ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภคของภาครัฐรวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ (2562) อีไอซีปรับลดเหลือ 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 3.0% โดยมีสาเหตุหลักจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงผลกระทบสะสมของการตั้งกำแพงภาษีระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา เริ่มส่งผลเป็นวงกว้างมากขึ้นในหลายประเทศ โดยผลกระทบในระยะหลังไม่ได้กระจุกตัวเพียงแค่การผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ และการลงทุน แต่เริ่มกระจายตัวทำให้ภาคบริการชะลอลงอีกด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง และเมื่อรวมกับการแข็งค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ก็จะทำให้ภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในรูปของเงินบาทได้รับผลกระทบ
“ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2562 สินเชื่อเพื่อการบริโภคชะลอตัว เป็นผลจากการชะลอตัวของสินเชื่อรถและสินเชื่อบ้าน ขณะที่สินเชื่อไร้หลักประกัน อาทิ บัตรเครดิต ลีสซิ่ง และสินเชื่อบุคคลเติบโตเร่งขึ้น และเติบโตในระดับสูง ซึ่งอาจสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือน อย่างไรก็ตามหนี้เสียและหนี้ที่ถูกจัดชั้นพิเศษของสินเชื่อบ้านและรถก็มีแนวโน้มสูงขึ้น สถาบันการเงินอาจเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมสินเชื่อ ถือเป็นแรงกดดันเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า”
นายยรรยง กล่าวอีกว่า มุมมองต่อดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาสที่ 4 ปีนี้สู่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และจะคงอัตราดอกเบี้ยตลอดปี 2563 เพื่อประคับประคองกำลังซื้อในประเทศผ่านช่องทางการลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งแม้อาจจะไม่กระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมใหม่ได้มากนักภายใต้ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่จะมีส่วนลดภาระการชำระหนี้ให้กับครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนค่าเงินบาทในปีหน้าเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ