เจาะลึกเศรษฐีไทยรวยอู้ฟู่!

. “ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” เจาะลึกเศรษฐีเมืองไทย
.รวยจากอสังหาฯ-หุ้นสินทรัพย์เพิ่มขึ้น9.9%ต่อปี
.เชื่อไตรมาส3ดัชนีตลาดหุ้นไทยแตะ1,800 จุด

นางจิรลาวัณย์ ตั้งกิจเวทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และจูเลียส แบร์ เปิดเผยว่า รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทย ปี 2562 ฉบับแรกที่จัดทำโดยไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เจาะลึกเฉพาะตลาดในประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลจากลูกค้ากลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals – HNWIs) ในประเทศไทย จำนวน 351 คน นำมาสู่การคาดการณ์ในช่วงเวลา 5 ปี (2558–2563) กลุ่มลูกค้า HNWIs ในประเทศไทยจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น 9.9% ต่อปี ทำให้มีมูลค่าโดยรวมกว่า 401,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 12.43 ล้านล้านบาท
สำหรับปัจจัยที่หนุนสินทรัพย์ของกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งเติบโต มาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของความมั่งคั่งครัวเรือน เศรษฐกิจดีขึ้น รวมไปถึงการที่ราคาของอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยคาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะแตะที่ระดับ 1,800 จุดได้ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และประเทศไทยจะยังมีฐานะทางการเงินการคลังที่แข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันกลุ่ม HNWIs ในประเทศไทยกว่า 56% สนใจการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) มากกว่าการคงการรักษาระดับความมั่งคั่ง (Wealth Preservation) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 41% โดยลูกค้ากลุ่มนี้มีรูปแบบการจัดพอร์ตในลักษณะเดียวกับกลุ่ม HNWIs ในต่างประเทศ คือ นิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง เช่น หุ้น พันธบัตร และกองทุน แต่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในประเทศ โดยนักลงทุนกลุ่ม HNWIs ในไทยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ อยู่ที่ 6% ขณะที่นักลงทุนกลุ่ม HNWIs ในต่างประเทศจะลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนทางเลือกอื่นๆ ในอัตรา 17% และ 9% ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ายังคงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก
นางจิรลาวัณย์ กล่าวอีกว่า พฤติกรรมและทัศนคติของนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่ให้ความเห็นในการจัดทำแบบสำรวจครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ประกอบการมิลเลนเนียล อายุไม่เกิน 40 ปี ให้ความสำคัญกับบริการทางการเงินดิจิทัล และการเพิ่มพูนความมั่งคั่ง มากกว่าการคงระดับรักษาความมั่งคั่ง 2.กลุ่มนักลงทุนเต็มตัว อายุระหว่าง 41 – 60 ปี เป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจมากที่สุดถึงรูปแบบความหลากหลายของสินทรัพย์การลงทุนในต่างประเทศ และ3.กลุ่มคนเกษียณไฮเทค อายุมากกว่า 60 ปี เป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศน้อยที่สุดและต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนมืออาชีพ มาช่วยจัดการบริหารการเงินให้ โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้งานโซเชียลมีเดียมากที่สุด
นอกจากนี้รายงานความมั่งคั่งในประเทศไทยนี้ยังได้ให้ข้อมูลการจัดอันดับประเทศไทยในดัชนีไลฟ์สไตล์ของจูเลียสแบร์ (Julius Lifestyle Index 2018) ที่จัดทำขึ้นโดยพิจารณาจากตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยและบริการลักซ์ชัวรี่ต่างๆ จำนวน 22 รายการที่สามารถสะท้อนการใช้จ่ายของชาว HNWIs ในภูมิภาคนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างถูกสำหรับนักช้อป โดยอยู่ในอันดับ 7 ตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2561 หากคิดเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยในประเทศไทยมีราคาสูงกว่าเนื่องจากอัตราภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยนำเข้าบางรายการ ขณะที่ราคาของการให้บริการลักซ์ชัวรี่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้ เนื่องจากต้นทุนการดำเนินการในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ การจัดงานแต่งงานอย่างหรูหราในกรุงเทพฯ มีต้นทุนถูกที่สุด อย่างไรก็ดีนักช้อปที่มาใช้บริการผ่าตัดเลสิก ตัดเสื้อสูท และซื้อซิการ์ในประเทศไทยกลับต้องจ่ายแพงกว่าในเมืองอื่นๆ ทั่วภูมิภาค