

- คนไทยนิยมทำบุญ-ตักบาตร-เวียนเทียน
- หอบเงินเที่ยวต่างประเทศเหตุบาทแข็ง
- พร้อมวอนรบ.ใหม่แก้ปัญหาปากท้อง
ม.หอการค้าไทย เผยวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา คาดเงินสะพัด 6,700 ล้านบาท ส่วนใหญ่ทำบุญ ตักบาตร เวียนเทียน ด้านประชาชนเร่งรัฐบาลใหม่แก้ปัญหาปากท้องอันดับแรก ตามด้วยพัฒนาระบบการศึกษา-ราคาพืชผลตกต่ำ
นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาในปี 62 ที่สำรวจจากกุ่มตัวอย่าง 1,210 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-7 ก.ค.62 ว่า คาดจะมีมูลค่าการใช้จ่าย 6,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 4 ปี เพระประชาชนกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองศูนย์ ที่ได้ปรับลดเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 62 มาอยู่ในระดับ 3.5%


สำหรับกิจกรรมที่ประชาชนนิยมทำในวันอาสฬหบูชาและวันเข้าพรรษามากที่สุด คือ ตักบาตร โดยใช้เงินเฉลี่ย 408 บาท, รองลงมาคือ ทำบุญ ใช้เงิน 803 บาท, ถวายสังฆทาน ใช้เงิน 635 บาท, เวียนเทียน ใช้เงิน 310 บาท นอกจากนี้ ยังถือโอกาสท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้เงิน 4,515 บาท และ 21,700 บาทตามลำดับ โดยสาเหตุที่เดินทางไปต่างประเทศ เพราะ ช่วงนี้ค่าเงินบาทแข็งค่า และบริษัททัวร์จัดโปรโมชันราคาถูกจูงใจ โดยแหล่งเงินที่ใช้จ่ายนั้น ผู้ตอบ 78.8% บอกมาจากรายได้ประจำ, อีก 12.7% มาจากเงินออม และ 7.4% มาจากรายได้พิเศษ โบนัส โบนัสพิเศษ
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ ยังได้ถามทัศนะต่อนโยบายภาครัฐ โดยนโยบายที่ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการด่วนตามลำดับคะแนนเต็ม 10 ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพและสินค้าราคาแพง อันดับ 1 ที่ 8.81 คะแนน ตามด้วย พัฒนาระบบการศึกษา 8.31 คะแนน, ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 8.23 คะแนน, หนี้ครัวเรือน 7.68 คะแนน, ปัญหายาเสพติด 7.57 คะแนน, ทุจริต 7.42 คะแนน, สร้างความสามัคคี ลดขัดแย้ง 7.40 คะแนน เป็นต้น
“เรื่องของปากท้อง เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งแก้ปัญหา แม้ว่าสินค้าหลายชนิดราคาไม่ได้ปรับขึ้น แต่เมื่อรายได้ประชาชนไม่ได้เพิ่มขึ้น และหลายคนมีหนี้สินมาก ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสินค้ายังแพงอยู่ ขณะเดียวกัน ยอมรับว่ายังมีสินค้าบางประเภทที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ที่หลายรายต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่าย”