

- ให้ยึดมติเดิมแบน 2 สารพิษมีผล 1 มิ.ย. นี้
- จวกสภาหอการค้า ฯเสนอให้เลื่อนไปเป็นปลายปี
- คณะกรรมการวัตถุอันตรายนัดหารือ 30 เม.ย.นี้
นางสาวรัตนา รักษ์ตระกูล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหหรรม(กรอ.) เปิดเผยระหว่างการเป็นตัวแทนนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม มารับหนังสือจากเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ว่าใน การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีรมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ที่ประชุมจะนำข้อเสนอจากเครือข่ายฯที่ต้องการให้ยึดมติเดิมในการแบน 2 สารเคมีได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) มีผลบังคับวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ไปหารือในที่ประชุมเพื่อข้อข้อยุติในประเด็นดังกล่าว แต่ก็ ยอมรับว่าขณะนี้กรมวิชาการเกษตรยังไม่ได้ส่งหนังสือการหาสารตัวอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 2 ชนิดตามที่เคยหารือไว้กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย
น.ส. ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง กล่าวว่า ได้เข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 28เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้คณะกรรมการฯ ยึดตามมติเดิมเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ที่จะยกเลิกการใช้ 2 สารเคมีคือพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสวันที่ 1 มิ.ย. นี้โดยขอคัดค้านความเห็นของนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เสนอให้ขยายระยะเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นปลายปี 2563 หรือจนกว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 จะสิ้นสุดลง

“กรณีที่สภาหอการค้าฯได้อ้างขอให้เลื่อนเวลาบังคับออกไป เพราะกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากกว่า10ปี โดยล่าสุด สหภาพยุโรปได้ประกาศแบนคลอไพริฟอส มาตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศเวียดนาม แบนพาราควอตมาตั้งแต่ปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งไม่มีประเทศใด มีปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด”
นอกจากนี้ เครือข่ายฯยังไม่เห็นด้วยกับการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายเพิ่มเติม เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถนำเข้าวัตถุอันตรายเข้ามาอีก ทำให้สต๊อกสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้างเดิมไม่ลดลง เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน และเรียกร้องให้กรมวิชาการเร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและออกมาตรการต่างๆที่เกี่ยวข้อง