“อีอีซี” เซ็นเอ็มโอยู ZAEZ ปั้นมหานครการบินภาคตะวันออก ใช้ไทยเป็นข้อต่อเชื่อมอาเซียน



  • กองทัพเรือจ่อประกาศผู้ชนะประมูลเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา ก.ย.นี้
  • เอ็มอาร์โอคืบแล้วการบินไทยตกลงแอร์บัสจบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone : ZAEZ) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน โดยนายสมคิด เปิดเผยว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้สนามบินเจิ้งโจว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (ZAEZ) เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เมื่อไทยสามารถเชื่อมโยงได้ ก็เป็นการขยายการส่งสินค้าไปยังจีนและยุโรปได้ โดยเร่ิมต้นจากความร่วมมือธุรกิจคาร์โก้ และถือเป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับจีนที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมใหม่ (One belt One road) ซึ่งไทยจะเป็นข้อต่อสำคัญในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน

“แม้ขณะนี้จะเกิดสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่รัฐบาลไทยมองว่าไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร หรือมีวิกฤติเกิดขึ้นแค่ไหน ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนก็ยังมีความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง และจะร่วมมือกันในระยะยาวต่อไป และเดือนต.ค.นี้ผมจะได้ไปเยือนจีนและฮ่องกง”

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเมืองการบินภาคตะวันออกและสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 290,000 ล้านบาท จะประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลได้ ภายในเดือนก.ย.นี้ คาดเซ็นสัญญาได้ต.ค.2562 ขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ทางการบินไทยตกลงกับบริษัทแอร์บัสได้แล้ว จะนำเข้าสู่คณะกรรมการการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี)ในอีก 2 สัปดาห์ โดยจะใช้พื้นที่ในการลงทุนภายในสนามบินอู่ตะเภาประมาณ 200 ไร่ จากเดิมที่กันพื้นที่ไว้ 500 ไร่ โดยพื้นที่ที่เหลืออีก 300 ไร่จะเปิดโอกาสให้เอกชนที่ต้องการลงทุนในกิจการซ่อมอากาศยานเข้ามาลงทุนเพิ่ม

ส่วนการลงนามของ สกพอ.กับ ZAEZ ต้องบอกว่าครั้งนี้ไม่ใช่เล่นๆ เพราะอีอีซีกำลังเรียนรู้จาก ZAEZ โดยขอบเขตความร่วมมือ ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ ในการพัฒนามหานครการบิน ด้านต่างๆ อาทิ การวางผังศูนย์กลางการบินและการเชื่อมโยง กลยุทธ์การคัดเลือกอุตสาหกรรม ความร่วมมือสถาบันการศึกษาด้านการบินการวางผังเมือง การท่องเที่ยวและงานวิจัย เป็นต้น 2.การส่งเสริมการลงทุน และการจัดทำระบบ อี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่ อีอีซี และ ZAEZ 3.การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการบินครบวงจร ระหว่าง อีอีซี และ ZAEZ 4.การสนับสนุนความร่วมมือและการพัฒนาในโครงการต่างๆระหว่างอีอีซี และ ZAEZ ให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต

“ความร่วมมือที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของสนามบิน แต่เป็นแนวทางการพัฒนาให้เกิด มหานครการบินภาคตะวันออก หรือ Eastern Aerotropolis ในพื้นที่ 6,500 ไร่ของสนามบินอู่ตะเภา บวกกับรัศมี 30 กิโลเมตรรอบๆสนามบิน จากพัทยา-ระยอง ที่จะสร้างเป็นเมืองอุตสาหกรรม รวมพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งการนำประสบการณ์จากเจิ้งโจว ที่เป็นมหานครการบินในภาคกลางของจีน ขนาด 415 ตารางกิโลเมตร และเป็นมหานครการบินใหม่ที่เริ่มทำได้ 3 ปี ซึ่งถือเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองการบิน ในเขตพื้นที่อีอีซีของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับ ภายใต้ MOU ครั้งนี้ จะเกิดความร่วมมือของเมืองการบินทางเหนือของเอเชีย จากเจิ้งโจว และเมืองการบินตะวันออกเฉียงใต้ของเอเชีย จากอู่ตะเภา การขนส่งสินค้า ที่ ZAEZ จะเป็นศูนย์กลางนำเข้าสินค้าทางอากาศของจีน รับสินค้าที่ส่งออกสำคัญ เช่น ผลไม้ อาหารทะเล สัตว์ปีก สัตว์มีชีวิต อาหารสำเร็จรูป ยา อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งผลไม้จากพื้นที่อีอีซี จะสามารถขยายไปทั่วประเทศจีน ขณะที่ความร่วมมือการลงทุนในอุตสาหกรรมร่วมกัน ซึ่ง ZAEZ มีบริษัทด้าน IT และ Smart phone กว่า 60 ราย มีบริษัทเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท บริษัทที่ธุรกิจด้านอี-อมเมิร์ซ 431 บริษัท บริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท โดยคาดว่ามีหลายกลุ่มบริษัทสนใจและพร้อมที่จะมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้จะเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความร่วมมือการพัฒนาบุคลากร และความร่วมมือและประสบการณ์จาก ZAEZ จะช่วยพัฒนาความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างดี