

- คณิศ ไม่เสี่ยงรอให้ศาล ตัดสินเด็ดขาด
- ยื่นกล่องเอกสารช้า 9 นาที ทำโครงการอืด
- รัฐทุ่ม 200 ล้านไล่ผู้บุกรุกพื้นที่ ร.ฟ.ท.
คณะกรรมการอีอีซี รอผลการพิจารณาของศาลฯ กรณีกล่องเอกสารยืนประมูลโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เนื่องจากส่งหลังปิดรับเอกสารเวลา 15.00 น. เกินไป 9 นาที หรือ 15.09 น. แต่เอก สารอื่นๆ สามารถเปิดพิจารณาต่อไปได้ ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายในเดือนก.ค.นี้ พร้อมทุ่ม 200 ล้านบาท ไล่ผู้บุกรุกให้เสร็จภายใน 2 ปี
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ บอร์ดอีอีซี เปิดเผยภายหลังการประชุม กพอ.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โฮชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการอีอีซีรับทราบความคืบหน้าขั้นตอนการดำเนินงานโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตอีอีซี รวม 3 โครงการ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา) 2.โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 และ 3.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
สำหรับโครงการที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการอีอีซีรับทราบและเห็นด้วยกับความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปก ครองที่มีมติยืนไม่รับพิจารณาข้อเสนอกล่องที่ 6/10 และกล่องที่ 9/10 ของกลุ่มกิจการร่วมค้าธนโฮลดิ้ง และพันธ มิตร จำกัด เนื่องจากยื่นหลังกำหนดเวลาไป 9 นาที จากที่ปิดรับเอกสาร 15.00 น. แต่เอกสารสุดท้าย 2 กล่องดังกล่าว ส่งมาเวลา 15.09 น. โดยคณะกรรมการอีอีซีจะทำการแจ้งผลการพิจารณาต่อกลุ่มกิจการค้าร่วมธนโฮลดิ้งฯ ต่อไป
“คณะอนุกรรมการคัดเลือกเอกชนโครงการดังกล่าว ต้องรอผลการพิจารณาของศาลปกครองว่า เอกสารกล่องที่ 6/10 และกล่องที่ 9/10 ของธนโฮลดิ้งฯ ล่าช้าหรือไม่ เพราะแม้จะยื่นล่าช้าไป 9 นาที เราก็จะไม่ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น กับเอกสารที่มีปัญหา เพราะทุกอย่างต้องเดินไปตามเงื่อนไขที่กำหนดคือ เวลารับเอกสารไม่เกิน 15.00 น. หากเรายอมและรับเอกสารดัง กล่าว คู่แข่งที่ยืนเอกสารก็จะฟ้องเราได้ ยิ่งจะให้กระบวนการทำงานล่าช้าไปอีก ดังนั้นจึงขอให้การพิจารณาทั้งหมดอยู่การตัดสินของศาล”
นายคณิศ กล่าวว่า บอร์ดอีอีซี จะดำเนินโครงการนี้ต่อไปในส่วนที่ทำได้ เช่น เอกสารที่ยื่นภายใต้เวลาที่กำหนด ก็จะปิดมาพิจารณา เพื่อดำเนินงานเป็นคู่ขนาน ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลฯ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีใครทราบว่าศาลฯ จะพิจารณาผลออกมาอย่างไร แต่ทุกอย่างต้องเตรียมการณ์ไว้ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ศาลฯ พิจารณาหากให้สามารถดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไปได้ ก็พร้อมที่จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอีอีซี และเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 1 เดือน และนำไปสู่การประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออกต่อไป
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนภายในเดือนก.ค. นี้ หลังจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติแล้ว และขณะนี้ ร.ฟ.ท.เดินหน้าจัดทำแผนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนผู้ร่วมทุน ซึ่งในที่ประชุมฯ ได้อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อให้ ร.ฟ.ท.เร่งกระบวนการนำขับไล่ผู้บุกรุก ซึ่งมีหลายร้อยชุมชนหรือคิดเป็น 15% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้ระยะ เวลาดำเนินการเรื่องดังกล่าว ไม่เกิน 2 ปี ส่วนพื้นที่ที่เหลือ 85% ไม่มีปัญหาเรื่องบุกรุก หากส่งมอบพื้นที่แล้วสามารถดำ เนินการก่อสร้างได้ทันที ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ช่วงที่ 1 ล่าสุดคณะกรรมการอีอีซีได้รับทราบความเห็นของกรรมการ กพอ.แต่ละคนต่อร่างสัญญาร่วมลงทุน และคำชี้แจงของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อร่างสัญญาร่วมลงทุนโครง การฯ และจะเสนอให้ ครม.เพื่อทราบต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้รายงานผลการทำงานของคณะกรรมการอีอีซีในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา พิจารณา 17 ครั้ง อนุมัติเรื่องสำคัญรวม 52 เรื่อง เช่น เห็นชอบแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ซึ่งมี 8 แผนงาน เห็นชอบหลักการจัดทำข้อเสนอกรอบขั้นตอนการเร่งรัดอนุมัติโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนในพื้นที่อีอีซี (PPP EEC Track) เป็นต้น