- พาณิชย์ยันแก้ข้อขัดแย้งทางการค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ชี้ไม่จำเป็นต้องรอฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก
- เผยมีผลใช้บังคับหลัง10ชาติให้สัตยาบันครบ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายใน เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 51 เดือนก.ย.62 ที่กรุงเทพฯ โดยหลังจากลงนามแล้ว พิธีสารฉบับนี้ จะมีผลใช้บังคับหลังจากสมาชิกให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศ
“การมีกลไกระงับข้อพิพาทเป็นของอาเซียนเอง เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม และจะเป็นประโยชน์กับสมาชิกมาก เพรากลไกระงับข้อพิพาททางการค้าขององค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) กำลังประสบปัญหาเรื่องการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ชุดใหม่แทน 6 คนใน 7 คน ที่จะหมดวาระในเดือนธ.ค.นี้ เพราะหากสมาชิกดับบลิวทีโอ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปในการเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของดับบลิวทีโอหยุดชะงักลง จะขาดที่พึ่งในการระงับข้อขัดแย้งทางการค้า แต่อาเซียนไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ เพราะมีกลไกระงับข้อพิพาทของตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงกลไกของดับบลิวทีโอ”
สำหรับกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของอาเซียนฉบับปรับปรุงใหม่นี้ มีสาระสำคัญ เช่น ปรับเงื่อนไขการฟ้องร้องให้ชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น ปรับขั้นตอนและระยะเวลาในการตัดสินคดีและการปฏิบัติตามคำตัดสินคดีให้ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น เพิ่มให้อนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท เป็นต้น ทั้งนี้ กรมได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นเรื่องการปรับปรุงพิธีสารกลไกระงับข้อพิพาทฯ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ซึ่งเห็นตรงกันว่าจะช่วยให้สมาชิกมีกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น