- ชี้ประเคนผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่
- ร้องสังคมร่วมจับตาและกดดัน
วันที่ 7 กรกฎาคม 2562 นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมแถลงข่าวกรณีการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่
นางสาวศิริกัญญาระบุว่า ความผิดปกติเหล่านี้ เราได้พูดมาหลายครั้งหลายหนในหลายวาระแล้ว เราพยายามส่งเสียงให้ดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ในสภา แต่เราเชื่อว่าผู้มีอำนาจจะไม่ฟัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนได้ร่วมกันจับตาโครงการต่างๆที่รัฐบาล คสช.กำลังทิ้งทวน ให้เกิดการประมูลหรือการให้สัมปทานอย่างรวดเร็วในช่วงรอบต่อระหว่างรัฐบาล เพื่อปกป้องงบประมาณแผ่นดินอันมาจากภาษีของประชาชน ไม่ให้ถูกใช้ไปเพื่อเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล คสช.
โดยโครงการต่างๆในส่วนที่มีการอนุมัติผ่านไปแล้ว ประกอบไปด้วย:
1.โครงการนำสายเคเบิลลงดิน หรือโครงการท่อร้อยสาย มูลค่า 20,000 ล้านบาท ที่รัฐให้สัมปทานกับบริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น จำกัด โดยเดิมโครงการนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานครได้ให้สัมปทานกับบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับของกรุงเทพมหานครเองเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต่อมาบริษัทกรุงเทพธนาคมก็ได้เปิดประมูลให้สัมปทาน ซึ่งผู้ชนะก็คือบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง
โครงการนี้มีความน่ากังวล คือมีการผูกขาดถึงสองชั้น ชั้นแรกมีการผูกขาดให้กับบริษัทกรุงเทพธนาคม ต่อมามีการเปิดประมูลอีก โดยมีบริษัทเดียวที่ยื่นซองประมูลอยู่ จากผู้แสดงความจำนงทั้งหมด 19 ราย ก็คือบริษัททรู คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง โดย กสทช.เองก็ไม่เคยมีการเปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการ รูปแบบจะเป็นอย่างไร ค่าธรรมเนียมต่างๆจะคิดอย่างไร มูลค่าทั้งหมดเท่าไหร่ และการกำหนดกติกาการร้อยสายจะใช้ร่วมกันได้อย่างไรโดยที่ไม่มีการทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบเสียเปรียบ
ในการนี้ พรรคอนาคตใหม่จึงขอเรียกร้องว่าควรต้องนำเอาโครงการนี้เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือ TTP ให้บอร์ด TTP ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม รวมทั้งเปิดเผย TOR ให้แก่สาธารณชนรับทราบด้วย
2.โครงการยืดหนี้ให้แก่กลุ่มทุนโทรคมนาคมและ TV Digital เป็นเม็ดเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้กลุ่มทุนโทรคมนาคมได้ประโยชน์เป็นจำนวนเงินถึง 20,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มทุน TV Digital จะได้ประโยชน์อีกประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยจะนำค่าธรรมเนียมที่ได้จากการเปิด license 5G มาชดเชยในส่วนนี้ ซึ่งการให้ license 5G นี้เองก็เป็นการแจกให้โดยไม่มีการเปิดประมูล โดยครั้งแรก กสทช.จะแจกในราคา 25,000 ล้านบาท ซึ่งราคาต่ำกว่าที่เคยมีการประมูล 4G มามาก ตอนนี้ลดลงไปเหลือเพียง 17,000 ล้านบาท ซึ่งเราขอเรียกร้องว่าควรต้องมีการประมูล ไม่ใช่การแจก license แบบที่ผ่านมา
3.การให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีใน 4 สนามบิน ทั้งร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่ทางพาณิชย์ทั้งหมด ซึ่งได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้ว ก็คือบริษัทคิงพาวเวอร์ โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่เงื่อนไขการประมูลมีปัญหามาโดยตลอด ที่ผ่านมาหลายฝ่ายเรียกร้องว่าควรมีการแยกสัมปทานกันระหว่างร้านค้าต่างๆ เพราะมีตัวอย่างจากต่างประเทศให้เห็นมาแล้ว ว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ประเทศได้รับเม็ดเงินเป็นจำนวนที่สูงกว่า
แม้โครงการนี้จะผ่านการประมูลไปแล้ว และไม่สามารถทำอะไรได้อีก แต่ทางเราขอเรียกร้องว่าอีกไม่นานจะมีการประมูลพื้นที่รับสินค้า หรือ pick-up counter ในเมืองขึ้นอีก ที่ผ่านมามีปัญหาคือผู้ได้สัมปทาน pick-up counter เป็นเจ้าเดียวกันกับผู้ได้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษี ซึ่งบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อมีการเปิดประมูลเกิดขึ้น ผู้ที่ได้สัมปทานทำร้านค้าปลอดภาษีไม่ควรที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอีก
นอกกจากนี้นังมีอีกสามโครงการด้านคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น ที่อยากให้ประชาชนร่วมกันจับตามองเป็นอย่างยิ่ง โดยนายสุรเชษฐ์ระบุว่าโครงการด้านคมนาคมเหล่านี้ ประกอบไปด้วย
1.โครงการขยายสัมปทานทางด่วน มูลค่ากว่า 424,756 ล้านบาท ให้กับบริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ซึ่งโดยปกติปแล้วเวลามีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ สามารถให้เอกชนร่วมลงทุนแล้วแบ่งรายได้จนได้รับรายได้อย่างเหมาะสม แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น คือสัมปทานทางด่วนที่เคยให้แก่บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด กำลังจะหมดอายุในต้นปีหน้า จึงมีความพยายามขยายสัมปทานนี้ออกไปอีก 30 ปีโดยมิชอบ
ที่เรียกว่าโดยมิชอบก็เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากการนำกรณีพิพาทต่างๆที่รัฐต้องชดใช้ให้แก่บริษัททางด่วนกรุงเทพ ทั้งกรณีที่ศาลได้พิพากษาจนถึงที่สุดไปแล้ว และกรณีพิพาทที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา มามัดรวมในการอนุมัติขยายสัมปทานทางด่วนนี้เป็นก้อนเดียวกัน เป็นเงินจำนวนถึง 424,756 ล้านบาท และมีการเร่งรีบอย่างผิดปกติ แต่โชคดีที่ประเด็นนี้กำลังจะมีการอภิปรายในสภา เนื่องจากมีการบรรจุลงเป็นญัตติในที่ประชุมแล้ว โดยผู้เสนอเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลเอง ซึ่งก็หวังวาจะไม่มีการกลับลำจากผู้เสนอในสัปดาห์หน้า
โดยในประเด็นนี้ พรรคอนาคตใหม่ได้พูดคุยกับพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ต่างเห็นตรงกันว่าโครงการนี้มีความไม่ชอบมาพากล อีกทั้งรองฟัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ดูแลงานด้านคมนาคมก็ออกมาพูดในทิศทางเดียวกัน ซึ่งตรงนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะไม่มีการกลับลำเกิดขึ้นในอนาคต
2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้กับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ประเด็นนี้เป็นญัตติเข้าสภาไปแล้วเช่นกัน ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าโครงการนี้มีการประมูลแบบไม่ปกติ เนื่องจากมีความพยายามพ่วงสิ่งต่างๆเข้าไป เช่นแผนการพัฒนาที่ดินรอบสถานี ซึ่งเป็นหลักมากกว่าแผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟด้วยซ้ำ จนไม่เหมือนโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงแล้ว แต่กลายเป็นโครงการพัฒนาที่ดิน โดยรัฐต้องออกเงินช่วยเหลือเป็นเงินจำนวน 117,227 ล้านบาท ซึ่งใน TOR ก็ไม่ได้พูดถึง routing ที่ชัดเจน แต่พุดถึงเรื่องของการพัฒนาที่ดินเป็นหลัก จนควรเรียกว่าเป็นโครงการเขื่อมต่อที่ดิน CP ด้วยภาษีประชาชนเสียมากกว่า และอย่างที่สื่อหลายๆสำนักนำเสนอมา ได้มีการกว้านซื้อที่ดินรอบสถานีโดยกลุ่ม CP เกิดขึ้นแล้ว
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา กรณีนี้ยังพอลดความเสียหายได้บ้าง ยังทันอยู่ถ้ารีบดำเนินการเสียตั้งแต่ตอนนี้ โดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อระงับและดำเนินการตรวจสอบในบางส่วน โดยต้องมีการเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะประเด็นความน่าสงสัยต่างๆ
3.โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-โคราช มูลค่ากว่า 180,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่ขัดกับตรรกะของการพัฒนาเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางระหว่างกรุงเทพ-โคราชแม้มีความสำคัญจริง แต่การอนุมัติทั้งรถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และรถไฟความเร็วสูงอัดเข้าไปพร้อมๆกันในพื้นที่เดียว จะเป็นการเพิ่ม capacity ให้กับระบบอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น แทนที่จะกระจายออกไปในทางอื่นๆ หรือปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเมือง หรือระบบขนส่งในด้านอื่นๆให้เพียงพอก่อน เช่นรถไฟรางคู่ หรือระบบรถเมล์ในเมืองโคราช ก่อนที่จะยกระดับสร้างรถไฟความเร็วสูงมารองรับผู้ที่มีรายได้สูงกว่า กลับมีการสร้างหลายโครงการพร้อมกันมาแย่ง demand กันเองในเส้นทางเดียวกัน
เพราะฉะนั้นรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะถูกใช้น้อยกว่าระบบอื่น และรัฐต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนทุกปี โดยคาดว่าโครงการนี้จะขาดทุนยิ่งกว่าถไฟฟ้าสายสีม่วงด้วยซ้ำ ที่สำคัญมีการไปประเคนโครงการนี้ให้จีน เป็นการล็อคไปแล้วว่าจะต้องทำกับจีนเท่านั้น
นายสุรเชษฐ์ระบุอีกว่าแม้โครงการนี้จะเบรคไม่ทันแล้ว แต่เราต้องไม่ผิดซ้ำสอง แผนแม่บท ละการบูรณาการระหว่างหน่วยงานควรต้องได้รับการแก้ไข หลายโครงการขาดตรรกะ ใช้งบประมาณซ้ำซ้อนอย่างไม่คุ้มค่า เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เราเห็นว่าการพัฒนาควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
สุดท้าย นางสาวศิริกัญญาระบุว่าที่ผ่านมาเราพยายามทำหน้าที่ของเราในระดับหนึ่ง การจับตาส่งเสียงเรียกร้องในสภาหลายครั้งยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องส่งสาสน์ไปยังประชาชนให้มาร่วมกันจับตาไม่ให้รัฐบาลกระทำการใดๆที่จะเสียผลประโยชน์ของประเทศชาติ
“หลายครั้งเราไม่สามารถเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมากดดันรัฐบาลได้ จนกว่าเราจะรู้สึกว่าเกิดความเสียหายขึ้นมาแล้ว จึงอยากฝากไปถึงประชาชนทุกคนว่าทุกเม็ดเงินเป็นภาษีของประชาชนทุกคน ถ้าเราเลือกวิธีการที่ดี ให้มีรายได้เข้ารัฐมากที่สุด ประโยชน์จะกลับมาสู่ประชาชน เป็นโรงพยาบาลที่ดี โรงเรียนที่มีคุณภาพ เพราะฉะนั้นขอเรียกร้องว่าอย่าจับตาเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ร่วมกดดัน ส่งเสียงให้ดังไปจนถึงรัฐบาล ให้แรงกดดันจากสังคมภายนอกนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ”