“อนาคตใหม่”เปิดตัว “ELC – ระเบียงชีวิตภาคตะวันออก”คู่ขนาน EEC

ชูเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่เห็นหัวประชาชน

“ธนาธร” ย้ำคนภาคตะวันออกต้องมีอำนาจกำหนดอนาคตของตัวเอง

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ศูนย์ประชุมมหาไถ่ จ.ชลบุรี พรรคอนาคตใหม่จัดงานระดมความคิดเห็นประชาชน พร้อมเปิดตัวโครงการ “ระเบียงชีวิตภาคตะวันออก” หรือ Eastern Life Corridor (ELC) ในฐานะโครงการคู่ขนานไปกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐ โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตร การประมง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการมีโครงการ ELC นี้ขึ้นมา โดยระบุว่า ส่วนตัวเองเป็นคนภาคตะวันออก เกิดและเติบโตขึ้นที่นี้มาก่อนที่จะย้ายเข้าไปทำงานในกรุงเทพ ตนจึงเข้าใจดีว่าภาคตะวันออกกำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ และเป็นเหตุผลที่โครงการนี้เกิดขึ้นมา เพราะถ้าย้อนกลับไปดูถึงที่มาของโครงการ EEC เราจะพบได้ว่ามีความพยายามผลักดันมาตั้งแต่ปลายปี 2558 มาจนถึงปี 2559 เป็นความพยายามที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาใหม่ หลังจากมีการจัดตั้ง 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาก่อนหน้านั้นและไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

โดยการดำเนินการของ EEC เป็นไปอย่างล่าช้า จนต้องใช้กฎหมายพิเศษถึง 3 ฉบับมาผลักดัน เช่น กฎหมายที่ยกเว้นผังเมือง กฎหมายที่ให้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แบบ fast track และการอนุญาตให้ต่างชาติเช่าที่ดินระยะยาวได้ โดยคำสั่งต่างๆเหล่านี้ ต่อมาได้กลายเป็นพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจล้นฟ้ากับผู้บริหาร EEC ราวกับว่าเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานปกครองพิเศษขึ้นมา โดยไม่มีผู้บริหาร EEC คนใดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทุกคนมาจากการแต่งตั้งของส่วนกลาง แต่มีอำนาจในการออกกฎหมายมากมายไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษี หรือยกเว้นการใช้ผังเมือง

“พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เราเองก็มีนโยบายการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ มีเป้าหมายให้มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่เรามองว่าการพัฒนาจะขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้ การพัฒนาต่างๆต้องมีสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่ผ่านๆ มา ทำไมประชาชนต้องออกมาต่อต้านโครงการต่างๆ ทั้งๆที่หลายโครงการยังไม่เกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ นั่นเป็นเพราะความไม่ไว้ใจโครงการต่างๆไม่ว่าจะเป็นโรงงานขยะ โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษ ประชาชนต้องออกมาต่อสู้ด้วยตัวเองตลอด โดยรัฐเองไม่ออกมาปกป้องหรือรับผิดชอบ ปล่อยให้ประชาชนกับเอกชนต้องตีกันเองตลอด แม้จะมีมาตรการต่างๆออกมาในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการขจัดมลพิษบ้าง แต่ก็มีการลักลอบปล่อยของเสีย ปล่อยมลพิษออกมส โดยที่รัฐไม่ได้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ดังนั้น การเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการพัฒนา จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอีกว่า การรักษาสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน โครงการ Eastern Seaboard ในอดีตก็เป็นบทเรียนที่ผ่านมาแล้ว ว่าทำลายสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชาชนมากขนาดไหน ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ไม่สามารถรองรับมลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้อีกแล้ว ปัญหาการขาดแคลนนำ้ก็เกิดขึ้นมาโดยตลอด เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทรัพยากรน้ำจะไม่ถูกจัดสรรไปที่อุตสาหกรรมใหม่โดยที่ไม่เหลือให้ประชาชนได้รับอุปโภคบริโภค ยังไม่นับเรื่องของพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องถูกเวนคืน สัตว์ป่า พื้นที่ป่าที่จะต้องงหายไป ระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราเรียกร้องการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม เราเรียกร้องประชาธิปไตยในสิ่งแวดล้อม ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ

สำหรับ สิ่งที่เราจะทำในสภาในขณะนี้ คือญัตติอภิปรายผลกระทบจากการบังคับใช้ประกาศคำสั่ง คสช. ซึ่ง EEC เป็นหนึ่งในนั้น ขณะนี้ญัตติดังกล่าวได้รับการบรรจุเป็นวาระในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสัปดาห์หน้าแล้วนี่คือสิ่งที่เรากำลังจะได้อภิปรายในสภา ก่อนที่จะมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาปัญหาต่อไป นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่จะมีการทำงานนอกสภาในการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปเป็นนโยบายของพรรคและนำไผสู่การแก้ปัญหาของประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มพูดคุยประเด็นปัญหาออกเป็น 6 ห้องที่สะท้อนปัญหา 6 ด้านหลักจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคตะวันออก ได้แก่ 1.ปัญหาการจัดการน้ำ 2.ปัญหาประมง 3.ปัญหาที่ดินและเอกสารสิทธิ 4.ปัญหาสัตว์ป่ารุกพื้นที่เกษตร 5.ปัญหาราคาพืชผลและนโยบายเกษตรก้าวหน้า และ 6.ปัญหาการจัดการขยะ โดยบรรยากาศการพูดคุยแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากด้านต่างๆร่วมสะท้อนข้อมูลกันอย่างเต็มที่ พร้อมกันนี้ ยังมีการอภิปรายในเวทีใหญ่ ในเรื่องของการเมืองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ในฐานะกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหา และนำเอาการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างแท้จริง

จากนั้น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเดินทางมาร่วมรับฟังประเด็นปัญหาต่างๆด้วย ได้ขึ้นกล่าวสรุปปิดงาน โดยระบุว่า รูปแบบการพัฒนาของ ELC ที่พรรคอนาคตใหม่เสนอ คือการพัฒนาที่สอดรับกับศักยภาพที่มีของคนท้องถิ่น การพัฒนาที่ทำให้ชีวิตของคนท้องถิ่นดีขึ้น โดยในฐานะคนที่เคยอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม ตนสามารถพูดได้อย่างเต็มปาก ว่าการพัฒนาที่เป็นไปตามแนวทางของ EEC จะนำไปสู่อะไรบ้าง แน่นอนที่สุด การเข้าถึงและใช้สอยที่ดิน การใช้น้ำที่มีคุณภาพ จะเอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมจะได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก การจ่ายภาษีจะได้รับการยกเว้น จะมีภาครัฐเข้ามาอำนวยความสะดวกในการประกอบการต่างๆอย่างเต็มที่ ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นหากมีการดำเนินการตามนโยบายแบบ EEC ซึ่งคนที่จะได้รับประโยชน์ไม่ใช่คนทั่วไปอย่างทุกท่าน พูดให้ชัด คนที่จะได้ประโยชน์คือ กลุ่มทุนระดับชาติที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพ มาตั้งฐานการผลิตที่ชลบุรี ระยอง ฯลฯ กับกลุ่มทุนข้ามชาติที่ต้องการมาหาสถานที่ประกอบกิจการ EEC คือกระบวนทัศน์แบบเก่าที่ไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือประเทศไทยไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ต้องพึ่งพาการลงทุนของทุนต่างชาติเพื่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี และถ้าไปดูในโครงการ EEC แทบไม่มีอุตสาหกรรมตัวไหนที่ตอบสนองกับชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะประชาชนภาคตะวันออกเลย เช่นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ไบโอเทค หุ่นยนต์ แทบไม่เกี่ยวข้องกับพี่น้องที่ปลูกเงาะในภาคตะวันออกเลย

นายธนาธร กล่าวอีกว่า พรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่า การสร้างความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ การจ้างงานรูปแบบใหม่ๆที่ตอบสนองกับชีวิตประชาชนเป็นไปได้ ให้สอดคล้องกับชีวิตของคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ไม่ใช่กลุ่มทุนใหญ่ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เช่นอุตสาหกรรมที่มีฐานอยู่บนวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ในภาคตะวันออก ให้สอดรับไปด้วยกัน อีกส่วนหนึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของไทยเอง เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ทุกวันนี้ถ้าเราไม่จัดการสร้างเทคโนโลยีของเราเอง เราจะไม่มีเทคโนโลยีเป็นของเราเองและต้องพึ่งพาต่างชาติตลอดเวลา แต่ถ้าเราวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของเราขึ้นมาเอง เราจะสามารถสร้างอุตสาหกรรมของเราเองได้ เช่นรถเมล์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการจัดการขยะ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคอนาคตใหม่มีนโยบายในด้านนี้อยู่ ทุกวันนีเประเทศไทยเป็นแค่ฐานการผลิต คนไทยเป็นแค่แรงงานรับจ้างของทุนต่างชาติ ภาคตะวันออกเป็นภาคที่สร้างเม็ดเงินเยอะที่สุดในประเทศไทย เป็นภาคที่พัฒนาที่สุดในประเทศไทย แต่คนตะวันออกแทบไม่ได้ส่วนแบ่งจากเม็ดเงินที่เกิดขึ้นมาเลย

“ทุกวันนี้จังหวัดอย่างระยองเป็นจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรอยู่ที่ 90,000 บาทต่อคน ถามว่าคนที่มาจากระยองในที่นี้ทีใครที่มีรายได้ถึง 90,000 บาทบ้าง ไม่มีเลย แล้วตัวเลขนี้มาจากไหน จำนวนเงินนี้รวมรายได้ที่เกิดจากสินค้าของภาคอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตอยู่ในระยองด้วย ส่วนแบ่งเหล่านี้ไม่เคยลงมาถึงคนธรรมดา มันไปอยู่กับกลุ่มทุนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพกับกลุ่มทุนต่างชาติ ภาคตะวันออกที่เขาอ้างว่าพัฒนาแล้วมันจึงไม่ใช่ เมืองไหนที่เป็นเมืองที่มีอารยะ ที่พัฒนาแล้ว เราไม่ใช่ไปดูว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ใช่ไปดูว่ามีห้างใหญ่โตหรือไม่ แต่ต้องดูที่คุณภาพชีวิตของตนตั้งแต่เปิดประตูออกจากบ้านมาต่างหาก

ดังนั้น สิ่งที่พรรคอนาคตใหม่ชวนทุกคนมาพูดคุยกันในวันนี้ จะไม่ใช่การพูดคุยกันเพียงหนึ่งครั้งแล้วจบ ทุกอย่างที่มีการเสนอมาจะมีการนำไปพัฒนาเป็นนโยบายระดับประเทศ จังหวัด ไปจนถึงตำบล และสิ่งที่เสนอมาเหล่านี้จะนำไปสู่นโยบายในการส่งทีมลงแข่งในการเมืองท้องถิ่น เพราะคุณภาพชีวิต ประชาธิปไตย และการกระจายอำนาจ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องเดียวกัน ทุกวันนี้ชะตากรรมของภาคตะวันออกที่กำลังจะเกิด EEC ขึ้นอยู่ในมือของระบบราชการที่ส่วนกลาง นี่จึงเป็นเรื่องเดียวกับเรื่องของการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ ต้องนำอำนาจการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับคนภาคตะวันออกกลับมาสู่ที่นี่ แล้วเราจะกำหนดอนาคตท้องถิ่นของเราเองที่นี่ แต่ในที่นี้ ทุกคนต้องช่วยกันใช้อำนาจของตนเอง มาร่วมกำหนดนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายผ่านการเมืองท้องถิ่นไปด้วยกัน” นายธนาธร กล่าว

หัวหน้าพรรค อนาคตใหม่ทิ้งท้ายว่า ปัญหาหลายๆอย่างที่เรามาพร่ำบ่นกันในที้นี้ เราต้องเปลี่ยนมันให้เป็นนโยบาย มาร่วมทำด้วยกัน ผลักดันระเบียงชีวิตภาคตะวันออกด้วยกัน นำสิ่งที่เราได้จากการคุยกันวันนี้มาลงมือทำด้วยกัน เรื่องไหนเป็นเรื่องระดับชาติ ส.ส.ของเราจะเข้าไปผลักดัน เรื่องไหนเป็นเรื่องของจังหวัด ของตำบล เราจะเข้าไปผลักดันกับผ่านการเมืองท้องถิ่น ทุกคนร่วมกันสร้างทีมขึ้นมา ผลักดันนโยบายที่เราเขียนด้วยกันในวันนี้