วันนี้ (19 ก.ย.65) นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทย กรมศุลกากรจึงให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ เข้มงวดในการตรวจค้นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค และปกป้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ
ทั้งนี้ จากการดำเนินการในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565 สามารถจับกุมการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าสูงได้ 3 คดี รวมน้ำหนักประมาณ 35,000 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 7,340,000 บาท มีรายละเอียด ดังนี้
-เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2565 ช่วงเวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนปราบปราม
เคลื่อนที่เร็ว กองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจสอบรถยนต์บรรทุกพ่วง จำนวน 2 คัน บริเวณ ถนนซอยกิ่งแก้ว 25/1 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ผลการตรวจสอบพบเนื้อสุกรแช่แข็ง ซึ่งมีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศ โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร น้ำหนักประมาณ 23,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 5,000,000 บาท
-เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 เวลาประมาณ 20.00 น. เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและปราบปราม ส่วนควบคุมทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรสงขลา ได้ทำการตรวจค้นยานพาหนะรถยนต์บรรทุก 12 ล้อ บริเวณริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) พบเนื้อสุกรแช่แข็ง มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ บรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกสีฟ้า โดยไม่พบเอกสารเกี่ยวกับการผ่านพิธีการศุลกากร เอกสารใบอนุญาตนำเข้าหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากร จำนวนประมาณ 12,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 2,340,000 บาท
“จากสถิติการจับกุมการลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งหมด 5 คดี รวม 43,800 กิโลกรัม มูลค่า 8,940,000 บาท
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเข้มงวดในการจับกุมผู้ที่ลักลอบนำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนสุกรมีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรไทยเพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากสารปนเปื้อนและเชื้อ ASF อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้เกษตรกรสามารถผลิตสุกรไทยออกจำหน่ายและผลักดันให้กลไกทางการตลาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับเนื้อสุกรทั้งหมด กรมศุลกากรจะส่งมอบให้กรมปศุสัตว์เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายพชร กล่าว