- ปรับค่าแรงคิดให้รอบคอบ
- ต่างด้าว3ล้านคนได้ประโยชน์เต็มๆ
- แนะพัฒนาแรงงานให้เป็นวาระแห่งชาติ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ขอให้ภาครัฐพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ ชี้ทำโครงสร้างอัตราค่าแรงเสียทั้งระบบ อาจส่งผลกระทบต่อ SMEs ถึงขั้นปิดกิจการ ส่วนผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ตัวจริงคือแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน เสนอให้ภาครัฐหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ย้ำชัดการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบทันที ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า การปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจถึงขั้นเลิกกิจการเพราะสู้ค่าแรงขั้นต่ำไม่ไหว โดยกระบวนการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกต้อง จะต้องผ่านมติของคณะกรรมการไตรภาคี และในแต่ละพื้นที่จะมีค่าแรงไม่เท่ากันตามเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ และจะกำหนดเป็นราคาเดียวทั่วประเทศไม่ได้
ขณะที่สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบัน ที่เป็นผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนม.ย. ที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.82 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 363,000 คน และผู้รอฤดูกาล 83,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 10,000 คน หรือเพิ่ม จาก 38.37 ล้านคน เป็น 38.38 ล้านคน ผู้ว่างงานลดลง 63,000 คน หรือ จาก 426 ,000คน เป็น 363 ,000 คน ขณะที่ปริมาณแรงงานต่างด้าว 3,268,285 คน ที่จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือแรงงานต่างด้าวที่จะขนเงินกลับประเทศ
“ ทำให้ค่าแรงส่วนนี้ไม่กลับเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจในประเทศ โดยเห็นว่าค่าแรงปัจจุบันของคนไทยส่วนใหญ่มีอัตราที่เหมาะสมอยู่แล้ว ควรผลักดันระบบการจ่ายค่าแรงตามทักษะ (Pay by Skill) สนับสนุนให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ โดยแต่ละอุตสาหกรรมและในแต่ละจังหวัดสามารถจ่ายค่าแรงที่แตกต่างกันได้ตามกลไกตลาด จึงไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าแรงโดยทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ “
นายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่าส.อ.ท. ขอเสนอ นโยบายค่าจ้างและการยกระดับคุณภาพแรงงานไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลักคื อ 1 การปรับอัตราค่าจ้าง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรสัมพันธ์กับการเพิ่มประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับข้อกำหนด เช่น อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ, ความสามารถของนายจ้าง, ความจำเป็นของลูกจ้าง และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่อัตราเดียวทั่วประเทศ
2.การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้บุคลากรมีความรู้เพิ่มพูนทักษะ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยโดยมีแรงจูงใจด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น ,จัดตั้งหน่วยงานกลางร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นต้น
3.การเพิ่มกำลังคนทดแทน สำหรับแรงงานสูงอายุ ด้วยการ สร้างมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ โดยให้ปฏิรูประบบค่าจ้างของประเทศเพื่อเป็นกลไกในการเพิ่มศักยภาพ ภาพแรงงาน โดยการส่งเสริมการจ้างแบบยืดหยุ่น และหักค่าใช้จ่ายได้ตามค่าจ้างที่เป็นจริง ฯลฯ