- บาทแข็ง-สงครามการค้ายืดเยื้อ-ราคาน้ำมัน
- ลุ้นไตรมาส4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยพลิกฟื้น
- เหตุระเบิดที่ซาอุดิอาระเบีย ยังไม่มีปัญหารุนแรงกระทบถึงไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมาว่า อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก.ค.ที่อยู่ในระดับ 93.5 ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ย.2561 ที่อยู่ในระดับ 93.9 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องรวมทั้ง ผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีพประจำวัน รวมทั้งภาวะการแข่งขันของตลาดในประเทศที่มีการแข่งขันกันรุนแรงเพื่อแย่งตลาดกันเอง
ขณะเดียวกัน การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ก็ เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของประเทศไทย ส.อ.ท.จึงต้องการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีกำหนดการประชุมวันที่ 25 ก.ย.นี้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.50% ให้อยู่ที่ 1.25% เพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาท
นอกจากนี้ เมื่อปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ได้เกิดพายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้กระทบต่อการคมนาคมขนส่งสินค้า โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยังคงยืดเยื้อ ยังเป็นความกังวลต่อเนื่องของผู้ประกอบการส่งออก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 102.9 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆมากขึ้น และมีการสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ 2563 รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ภายในประเทศของภาครัฐ จะส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ *นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานส.อ.ท. กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมัน หลังเกิดเหตุโจมตีแหล่งน้ำมัน 2 แห่ง ในประเทศซาอุดิอาระเบียว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตน้ำมันดิบของตลาดโลก หายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของซาอุดิอาระเบีย และคิดเป็นกำลังการผลิตในสัดส่วน 5% ของตลาดโลก ที่ปัจจุบันซาอุดิอาระเบีย มีกำลังการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
” แม้ประเทศอิหร่านจะมีกำลังการผลิตที่สามารถชดเชยการผลิตของซาอุดิอาระเบีย ได้ แต่อิหร่านก็ถูกสหรัฐฯคว่ำบาตรทำให้มีปัญหาเรื่องการส่งออก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบที่จะมีต่อตลาดโลกยังคงมีอยู่ ในระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ก็ ยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก เนื่องจากหลายๆประเทศในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่(โอเปก)ก็มีปริมาณน้ำมันสำรองเพียงพออยู่จำนวนหนึ่ง จึงไม่น่าเป็นปัญหาที่น่าวิตกมากนัก *สำหรับ ประเทศไทยที่มีโรงกลั่นน้ำมันที่ทุกโรงกลั่นก็ มีปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปสำรองไว้ 6% ตามกฎหมาย รวมที่อยู่ระหว่างขนส่งน้ำมันดิบจากต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง โดยรวมแล้ว หากเกิดวิกฤตขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลก ประเทศไทยก็ยังมีน้ำมันสำรองใช้ได้รวม 50 วันโดยไม่เกิดปัญหาใดๆ อีกทั้งประเทศไทย ก็ มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากหลายๆประเทศในตะวันออกกลา งซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก(โอเปก) ที่มีกำลังการผลิตเพียงต่อความต้องการ ไม่ได้ผูกขาดนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบียเพียงประเทศไทยเดียว เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่น่าส่งผลกระทบต่อไทยมากนัก
”จากการประเมินเบื้องต้นเห็นว่าผลกระทบที่เกิดแม้จะกระทบโรงกลั่นน้ำมันของซาอุดิอาระเบียในระยะสั้นๆ เห็นได้จากราราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับขึ้นไปที่ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากก่อนเกิดเหตุระเบิดอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันจะปรับขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะยืดเยื้อเพียงใด“
นายบวร กล่าวว่า หากราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นทุกๆ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าของประเทศไทย 300 ล้านบาท ย่อมส่งผลกระทบราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ทั้งทางตรงในระยะสั้นตามหลักจิตวิทยา ทั้งยังต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าที่ใช้น้ำมันเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากน้อยเพียงใด เพราะจะกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศ และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้