- ชี้อาจมี “ค่าแกล้งโง่” เพิ่มอีก
- หนุนตั้ง กมธ.ศึกษาความคุ้มค่า – ผลกระทบ
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ที่รัฐสภาชั่วคราว บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ร่วมอภิปรายในวาระสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติด่วน ขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษากรณีการต่อสัญญาสัมปทานให้ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นพนักงานการทางพิเศษมาก่อน มีคนโทรหาตนหลายคน บอกว่าบ้านเขากำลังจะโดนเผา ซึ่งสำหรับตนแล้วมันเป็นบ้านเก่าของตนด้วย ทั้งนี้ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นนั้น ทางเทคนิคเรียกว่าข้อพิพาทการแข่งกัน ส่วนที่แพ้ไปเป็นมูลค่า 4,318 ล้านบาท ตรงนี้จบไปแล้ว อย่างไรก็ต้องจ่าย แต่มีความพยายามพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในทางมิชอบ โดยพ่วงก้อนใหญ่ๆ เข้าไปอีกสองก้อน คือ 1.เรื่องของคดีคงค้าง 17 คดี คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท 2.โครงการ Double Deck ที่เป็นโครงการใหม่
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า คดีคงค้างทั้งสิ้น 17 คดี แต่ละคดีอยู่ในสถานะที่แตกต่างกัน บางคดียังไม่เข้าสู่ระบบศาลด้วยซ้ำ เป็นแค่การขู่จากบริษัทว่าจะฟ้องร้อง ส่วนคดีที่เข้าสู่ระบบศาลแล้วต้องผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม ที่จบไปแล้วมีเพียงคดีเดียวคือคดี 4,310 ล้านบาท ส่วนคดีที่คงค้าง 17 คดีมูลค่า 137,517 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 2.กลุ่มใหญ่ๆ คือเรื่องการแข่งขัน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือเรื่องของการขึ้นค่าผ่านทาง โดยในข้อพิพาทเกี่ยวกับการขึ้นค่าผ่านทางนั้น เกิดจากกรณีที่ผ่านมา มีความพยายามขึ้นค่าผ่านทางด้วยความเห็นที่ไม่ตรงกัน ระหว่างทางรัฐที่พยายามขึ้นให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด โดยขึ้น 5 บาท ส่วนเอกชนต้องการทำกำไรให้มากที่สุดจึงเสนอขึ้น 10 บาท เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่ลง ส่วนต่างอยู่ที่ 5 บาทเป็นมูลค่ามหาศาลที่ฟ้องร้องกันมา ซึ่งทางอัยการสูงสุดช่วยการทางพิเศษว่าความอยู่ และมีโอกาสที่จะชนะคดี เพราะฉะนั้น เราจะพ่วงทั้ง 17 คดีมูลค่ากว่าหลานแสนล้านบาทเข้าไปในลักษณะยนี้ไม่ได้ จะไปเจรจายอมความกันจะแบบมุบมิบ โดยที่ใช้อำนาจพิเศษแบบนี้ไม่ถูกต้อง
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ก้อนใหญ่ที่สองที่มีความพยายามจะพ่วงเข้่าไปคือโครงการ Double Deck ซึ่งยกระดับจากประชาชื่น มาจบลงที่อโศก จะเห็นได้ว่ามีปัญหาอื่นๆตามมา มูลค่าก็ยังไม่มีความชัดเจน ทางบริษัทเสนอมา 31,518 ล้านบาท ขณะที่การทางพิเศษฯประมาณการมาที่ 26,621 ล้านบาท ผลต่างถึง 15% ที่เจรจากันเอาตัวเลขไหนไปเจรจา แบบก็ยังไม่มี เป็นการ estimate cost คร่าวๆ นอกจากนั้น รายละเอียดเวลาเราทำโครงการขนาดใหญ่ระดับนี้จะใช้ความรู้สึกว่าคุ้มหรือคุ้มไม่ได้ ต้องศึกษาในรายละเอียด ต้องคิดให้ถี่ถ้วน เวลาดำเนินโครงการใหญ่ๆ ถึงต้องมีการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (feasibility studies) แล้วต้องมีการออกแบบรายละเอียด (detail design) แล้วก็ทำ EIA
“นี่คือก้อนใหญ่ๆสองพวงที่จะเอาไปพ่วง จะเห็นได้ว่าจากค่าโง่ 4,318 ล้านบาทกำลังจะกลายเป็นค่าแกล้งโง่มูลค่า 424,756 ล้านบาท ที่จะเอาเงินไปประเคนให้กับบริษัทในการขยายสัญญาไปอีก 30 ปี โดย 16 ปีแรกคือเรื่องข้อพิพาทก้อนใหญ่ก้อนแรก ส่วนอีก 14 ปีหลังคือเรื่องการสร้าง Double Deck แบบไม่มีรายละเอียด นี่ล่ะครับคือผลของการใช้อำนาจพิเศษ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ใต้ทาง ที่ให้สิทธิ first right ให้กับบริษัทผู้ได้รับสัมปทานในการทำอะไรก็แล้วแต่ต้องได้รับผลประโยชน์ก่อนเพื่อน แล้วที่ดินใต้ทางด่วนแต่ละที่นี่มูลค่ามหาศาลทั้งนั้น
“ถามว่าทำไมถึงกล้าทำอย่างนั้น ก็ขอให้ดูธงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าขั้นตอนอยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้ให้นโยบายไปแล้วว่าสามารถทำได้ ตรงนี้ตนก็ต้องถามว่าคำว่า ทำได้นี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปศึกษามาแล้วหรือ ว่าทำไปแล้วประชาชนหรือกลุ่มทุนที่ได้ประโยชน์ ส่วนที่บอกว่าเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็จะพยายามแก้ปัญหาให้ได้ ก็ต้องถามว่าศาลตัดสินไปแล้วว่าให้จ่าย 4,318 ล้านบาท แต่ดันจะพ่วงสองก้อนใหญ่เข้าไปให้เป็นหนี้ 30 ปี 424,756 ล้านบาท อันนี้เรียกว่าแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวอีกว่า การทางต้องไม่จ่ายเงินสดในการแพ้คดี ซึ่งตนสงสัยว่าทำไมถึงจ่ายเงินสดไม่ได้ ตนไปสอบถามมาจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ทราบว่าว่าการทางฯพร้อมที่จะจ่ายและจ่ายให้หมดได้ภายใน 1 ปี แต่ธงนำมาจากมติ ครม.ให้ไม่ต้องจ่าย จึงไม่สามารถดำเนินการจ่ายได้ กลายเป็นการพ่วงเข้าไปเป็นสัญญาสัมปทานในลักษณะนี้” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ระบุว่า สำหรับตน เรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนอย่างชัดเจน ถ้าไปตรวจเอกสารจะพบถึงความเร่งรีบแบบผิดปกติเยอะมาก มีการประชุมวาระลับ วาระจรต่างๆเกิดขึ้นมากมาย และทั้งๆที่ความเป็นจริงการร่างสัญญาต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่สัญญาที่เกิดขึ้นเป็นการร่างมาจากบริษัทเอกชนมายัดใส่มือให้การทางพิเศษฯ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ปลดผู้ว่าการทางพิเศษฯ ซึ่งเชื่อได้ว่ามีเหตุมาจากการที่คณะทำงานของการทางพิเศษฯเคยให้ความเห็นเป็นเอกสารถึงโครงการดังกล่าว ในแนวทางที่ขัดกับมติ ครม.ที่จะให้พ่วงข้อพิพาทเข้าไปกับโครงการขยายสัมปทาน ทั้งๆที่มีโอกาสที่จะชนะคดี และความเห็นด้านอื่นๆ ที่ขัดแย้งกับมติ ครม. ในการนี้ ตนและพรรคอนาคตใหม่เห็นว่าทางออกคือจ่ายค่าโง่ไปก่อน 4,318 ล้านบาท ที่การทางพิเศษฯต้องการจะจ่ายและสามารถจ่ายได้ แล้วค่อยไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณารายละเอียดในข้อพิพาทและโครงการเป็นการแยกกันไป ต้องนำเอาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพิจารณาศึกษาถึงความคุ้มค่าของโครงการ ไม่ใช่การเอายัดเข้าไป
“ผมอยากฝากให้ทุกท่านช่วยคิด โดยจะเล่านิทานง่ายๆ สมมุติว่า ท่านเป็นเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งมีอยู่เจ้าเดียวในละแวกนั้น ลูกค้าเยอะมาก กำไรงาม ลูกน้อง อุปกรณ์ และตัวอาคารก็เป็นของท่าน แต่ท่านมอบให้นาย B มาเป็นผู้จัดการ หน้าที่ของนาย B ก็ไม่ได้มีอะไรมาก แค่แบ่งเงินให้ท่าน ทำตามที่ท่านสั่ง เอาเงินไปจ่ายลูกน้องท่าน ที่เหลือเป็นเงินของนาย B นาย B ได้สิทธินี้มา 30 ปี กำไรดีเลยทีเดียว แต่นาย B ไม่รู้จักพอ คอยหาเรื่องฟ้องร้องท่านมาโดยตลอด เช่น ท่านไม่อยากขึ้นค่าอาหารเพราะกำไรงามอยู่แล้ว และกลัวลูกค้าจะหายไป แต่นาย B อยากขึ้นเพราะกำไรจะได้มากไปอีก ก็เลยมาฟ้องท่าน ซึ่งตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเขาหาเรื่องจะฟ้องร้องท่าน แล้วท่านก็ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไร ท่านไม่อยากให้ขึ้นค่าอาหารเพราะกลัวจะขูดรีดลูกค้าเกินไป ผมถามจริงๆในกรณีตัวอย่างแบบนี้ ท่านจะเจรจาขยายสัญญากับเขาอีก 30 ปีไหม ถ้าเป็นตนนอกจากจะไม่เจรจาแล้วจะโกรธกันด้วย แล้วกำไรต่างๆเขาได้ไปเกินที่เขาลงทุนมากแล้ว return on investment อยู่ที่ 9% เขาได้ผลตอบแทนเพียงพอแล้ว” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
นายสุรเชษฐ์ ทิ้งท้ายว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับการทางพิเศษฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่ออำนาจพิเศษเข้าไปใช้วิธีลัด นี่คือสิ่งที่ผู้นำให้ทิศทางมา ทั้งๆ ที่ตัวเองรู้เรื่องรู้รายละเอียดหรือยังว่าเขาจะทำอะไร ถ้าผู้นำของเราเป็นคนดี ผมก็คงต้องบอกว่าไม่ฉลาดเท่าไหร่ที่ให้นโยบายแบบนี้ แต่ถ้าผู้นำของเราเป็นคนไม่ดี อันนี้ก็จบ คงไม่ต้องเถียง เพราะมันเห็นชัดอยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำนั้น ทำเพื่อนายทุนหรือเพื่อประชาชนกันแน่