- พบนักธุรกิจ100รายชวนมาอีอีซี
- หารือเมติ กระชับพื้นที่ร่วมมือสู่ยุค4.0
- ผนึกพันธมิตรช่วยดันกลุ่มหุ่นยนต์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่25-28ก.ย.นี้ ตนจะนำคณะผู้บริหารกระทรวงฯไปเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี เพื่อรองรับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยจะร่วมหารือกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดโทยามะ และร่วมบรรยายให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในประเด็นนโยบายของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)และล่าสุด มีนักลงทุนตอบรับร่วมรับฟัง100 ราย
นอกจากนี้ยังจะได้หารือร่วมกับรมว.เศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม(เมติ)ของญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทย-ญีปุ่นไปสู่อุตสาหกรรม4.0 และเชื่อมโยงไปยังกลุ่มซีแอลแอ็มวี(กัมพูชาว ลาว เมียนมา เวียดนาม)และยังจะได้หารือกับผู้บริหารของบริษัทมิตซูมิชิ มอเตอร์ส จำกัด เพื่อเชิญชวนให้มีการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์แห่งอนาคตที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริมและสอบถามความคิดเห็นของมิตซูบิชิว่าต้องการให้ฝ่ายไทยสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการลงทุนในเรื่องใดเพิ่มเติมในอนาคต
นายสุริยะ กล่าวว่าในวันที่27 ก.ย.นี้ ตนยังจะได้พบปะและหารือรวมทั้งลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู) กับสมาคมส่งเสริมเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น( JTECS) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกันโดย JTECS จะเข้ามาร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมพัฒนาบุคลากรอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติในประเทศไทย ซึ่งในอนาคตอาจจะขยายไปสู่การรวมกลุ่มของบริษัทญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจด้านหุ่นยนต์ในไทยร่วมกับผู้ประกอบการชาวไทย เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมด้านนี้ร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังจะมีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น(NEDO) ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน(เซอร์คูลาร์อีโคโนมี) ในเรื่องการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์และซากรถยนต์ เก่าที่หมดสภาพการใช้งาน เพื่อให้นำวัสดุอุปกรณ์กลับมาใช้งานใหม่ให้ได้มากที่สุดเป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทยและมีการเข้ามาลงทุนในไทยสูงมากโดยมีธุรกิจญีปุ่นกว่า 7,000 กิจการที่ลงทุนในไทยในปัจจุบัน โดยญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตป้อนไปยังตลาดโลก