“สุริยะ” สั่งสมอ.เร่งทำมาตรฐาน อุปกรณ์



  • ใช้โครงสร้างพื้นฐานการก่อสร้างขนาดใหญ่
  • เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของไทย
  • ดัดหลังต่างชาติอ้างสินค้าไทยไม่ได้มอก.

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)ไปจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมระบบราง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน ท่าเรือ รถไฟฟ้า โดยให้ไปพิจารณาว่า สินค้าประเภทใดของประเทศไทย ที่ต้องการผลิตให้ได้ มอก.

ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของสากล เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ให้ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เนื่องจากที่ผ่านมามีเอกชนหลายรายกังวลว่า กลุ่มผู้ชนะการประมูลโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีบริษัทต่างชาติร่วมทุนอยู่หลายโครงการจึง เกรงว่า จะต้องนำเข้าอุปกรณ์เข้ามาใช้ในแต่ละโครงการหากอุปกรณ์นั้นๆ ที่ผลิตได้ในประเทศไม่ได้มอก.

“นโยบายดังกล่าว ภาครัฐจะต้องเน้นอุปกรณ์หรือสินค้าที่ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการผลิตในประเทศ และต้องการให้ภาครัฐออกมาตรฐานสินค้าให้ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับสากล และต่อไปผมจะไปหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เรื่องข้อกำหนดการส่งเสริมใช้ชิ้นส่วนในประเทศ (โลคอล คอนเทน) เพื่อสนับสนุนการใช้สินค้าไทย โดยต้องไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ในประเทศก็ควรให้ผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ในประเทศได้รับผลประโยชน์ด้วย “

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง ก็จะต้องเร่งสร้างคุณค่ามาตรฐานทักษะแรงงาน เพื่อสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พัฒนาฝีมือให้เป็นระบบ รวมถึงส่งเสริมมาตรฐานอาหารแปรรูป สินค้าที่แปรรูปจากการเกษตร พร้อมทั้งเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

นอกจากนี้ตนยังจะเร่ง รัดดำเนินโครงการ 5 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ประกอบด้วย เครื่องยนต์แรก การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือเอส-เคิร์พ เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้นในประเทศเพื่อ ต่อยอดนโยบายในส่วนที่มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่มีค่ายผู้ผลิตรถยนต์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 53,000 ล้านบาท หรืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่ ต่อไปจะให้ความสำคัญกับการลงทุนจากประเทศพันธมิตรโดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น

เครื่องยนต์ที่ 2 จะ ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ให้เติบโตและเข้มแข็ง โดยจะนำนวัตกรรมนำการส่งเสริม สร้างต้นแบบเอสเอ็มอี และจะพัฒนาผู้ประกอบการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปี 25 63 กระทรวงอุตสาหกรรมได้ ขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยแนวทางเกษตรอุตสาหกรรมวงเงิน 400 ล้านบาท เพื่อการยกระดับสู่การแปรรูปสินค้าเกษตร โดยเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปต่างๆ รวมทั้งเตรียมยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม เสริมเครื่องทุ่นแรงในการแปรรูปอย่างง่าย และพัฒนาสินค้าให้มีความคิดสร้างสรรค์พร้อมนวัตกรรม โดยมีเป้าหมาย 6,400 ราย คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจรวม 1,050 ล้านบาท

เครื่องยนต์ที่ 3 เป็น การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการ พัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนผ่าน อีอีซี และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเน้นสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคด้วยโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตร เครื่องยนต์ที่ 4 เน้นส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ,ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน , การสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยการใช้วัตถุดิบหมุนเวียน เพื่อให้เป็นกลไกเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในรูปแบบใหม่ โดยจะแก้ไขข้อติดขัดของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งเสริมการนำวัตถุดิบหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์

“เครื่องยนต์ตัวสุดท้าย ต้องปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่สมาร์ท กอฟเวอเมน ด้วยการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริการและปฏิบัติงานของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ เช่น ระบบการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบออนไลน์ แทนการตรวจ สถานประกอบการเพื่อต่ออายุใบอนุญาต เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือรง.4 , มอก. อีโคสติกเกอร์ สำหรับรถยนต์ที่ลดมลพิษ, ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์