“สุริยะ”สั่งทุกหน่วยงานเข้มเดินหน้าลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จริงจัง



  • ย้ำห้ามเกิดทีแก้ที ประสานกองทัพอากาศบินโดรนสำรวจโรงงานปล่อยฝุ่นพิษ
  • เน้นพื้นที่โรงงานหนาแน่น
  • พร้อมเดินสายตรวจถี่โรงงานที่ถูกร้องเรียนบ่อย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก พีเอ็ม 2.5ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ให้เข้มข้นต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาการเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ให้ได้มากที่สุด ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่วม 8 กระทรวงหลัก เพื่อประสานข้อมูลกับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กำหนดแผนปฏิบัติการช่วงระยะเวลาที่คาดว่า มีปัญหาฝุ่นละอองในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรม กำหนดแผนเตรียมความพร้อม ลดกำลังการผลิต ลดการเผาไหม้ ลดทำเหมืองแร่ เหมืองหินในช่วงมีปัญหามลภาวะฝุ่นละอองหนักๆ

“ ปัญหาการก่อให้ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ส่วนใหญ่มาจากยานยนต์ 60% เผาเศษวัสดุทางการเกษตรการ เผาขยะในที่โล่ง 35% มาจากภาคอุตสาหกรรมเพียง 5% และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งให้เร่งแก้ปัญหาให้ครบทุกจุดทั้งเรื่องการลดการเผาอ้อย และไม่รับซื้ออ้อยเผาทั้งหมดในปี 2566 พร้อมสนับสนุนกองทุนในการจัดซื้อรถตัดอ้อย ในการจัดเก็บอ้อย , บังคับใช้รถเครื่องยนต์ยูโร 5 ให้เร็วขึ้นเป็นปี 2564 เพื่อลดปัญหาการเกิดฝุ่นอย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืน ไม่ใช่ว่าเมื่อ เกิดปัญหาขึ้นมาครั้งหนึ่งก็วิ่งแก้ปัญหากันไปครั้งหนึ่ง”

ล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เตรียมลงนามความร่วมมือกับกองทัพอากาศใน เดือนต.ค.นี้ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยกรอ.จะนำอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ไปติดตั้งบนโดรน ของกองทัพอากาศ เพื่อบินตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หนาแน่น ซึ่งมีความเสี่ยงในการก่อปัญหามลพิษฝุ่นสูง เพื่อกำหนดพื้นที่ที่มีโรงงานปล่อยฝุ่น พีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานได้ชัดเจน หากพบจะให้เจ้าหน้าที่กรอ.เข้าไปตรวจสอบโรงงานดังกล่าวทันที เพื่อแก้ปัญหาโรงงานปล่อยมลพิษได้ตรงจุด และกำหนดเป้าหมายแผนการตรวจโรงงานประจำปี25 63 เน้นกลุ่มโรงงานและประเภทการประกอบกิจการที่เคยมีปัญหาข้อร้องเรียนด้านฝุ่นละอองบ่อยๆ ครั้ง พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ให้โรงงานใช้เทคโนโลยีสะอาด ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการปรับปรุงวิธีการ ขบวนการเพื่อการลดมลพิษที่ต้นทาง

นอกจากนี้ ให้เพิ่มกิจกรรมการล้างล้อรถบรรทุกที่ใช้ในการขนส่งของโรงงาน และให้โรงงานกำหนดกิจกรรมบิ๊ก คลีนนิ่ง ในโรงงาน เพื่อลดการสะสมของฝุ่นละออง รวมทั้งส่งเสริมให้โรงงานใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5 หรือน้ำมันกำมะถันต่ำเกรดพรีเมียมร์ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละออง , กำหนดกลุ่มเป้าหมายตรวจสอบโรงงานในแต่ภูมิภาค เน้นโรงงานที่มีปัญหาด้านฝุ่นละอองและมลพิษอากาศ และตรวจวัดติดตามผลในกลุ่มโรงงานที่มีการระบายฝุ่นละอองไม่เป็นไปตามมาตรฐาน