- ลุ้นเงินภาครัฐ3แสนล้านบาทมากู้วิกฤต
- เผยสารพัดปัจจัยรุมกระหน่ำ
- น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อชาวไร่ชาวนา
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(เอ็มพีไอ)เดือนส.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 100.58 หดตัว 4.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 105.22 สะท้อนภาพรวมภาคอุตสาหกรรมยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะอันใกล้ นี้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศชะลอตัวลง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การส่งออกดีได้ยาก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำ) หดตัว 9.2%
นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) หดตัว 13.2% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ อยู่ที่ 65.75% เมื่อเทียบกับ เดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 69.11 ส่งผลต่อภาคการผลิตในระยะข้างหน้าที่สะท้อนการผลิตยังไม่สดใสมากนัก แต่ สศอ.ก็หวังว่า4เดือนสุดท้ายของปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจ จะได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อในช่วงปลายปีที่กำลังจะเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ และคริสมาสต์ รวมทั้งแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐวงเงิน 316,813 ล้านบาท จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2563 ขยายตัวสูงขึ้นได้
“ยอมรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนก.ย.นี้ คงไม่แย่เหมือนกับเดือนส.ค.ที่ผ่านมา เพราะเดือนก.ย.เริ่มมีเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทยอยเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกำลังซื้อช่วยประคองภาคอุตสาหกรรมให้เป็นบวกและพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้ แต่ก็ต้องติดตามปัจจัยต่างๆ เดือนต่อเดือน เพราะดัชนีชี้วัดขณะนี้ยังไม่มีทิศทางเป็นบวกมากนัก ซึ่ง สศอ.จะรวบรวมข้อมูลเดือนก.ย.นี้ อย่างรอบด้าน หากไม่มีทิศทางเป็นบวกก็มีความเป็นไปได้ที่ สศอ.จะต้องทบทวนปรับประมาณการดัชนีเอ็มพีไอและอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมปีนี้ลงจากปัจจุบันคาดไว้อยู่ที่ 0-1% “
ขณะเดียวกัน อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์เดือนส.ค.ที่ผ่านมาก็ ยังลดลง 8.2% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งจากยอดขายในประเทศที่ลดลง 6.9% และยอดส่งออกลดลง 20.5% เม็ดพลาสติกหดตัว 2.7% จากทิศทางราคาน้ำมันผันผวนหลังเกิดเหตุโจมตีโรงกลั่นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงต้องจับตาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผลิตภัณฑ์พลาสติกในระยะข้างหน้าอุตสาหกรรม อาหารหดตัว 1.7% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ
สำหรับ ผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานจากการประเมินโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย 2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีคาดได้รับความเสียหาย 500,000 ไร่ ซึ่ง สศอ.ประเมินว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว แต่ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ระดับหนึ่ง