สศช.เผยหนี้ครัวเรือนพุ่งไม่หยุด!

  • สศช.แถลงภาวะสังคมไตรมาสแรกปีนี้พบการจ้างงานเพิ่มขึ้น0.9%
  • หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีก6% สู่ระดับ78.6 ของจีดีพีจากสินเชื่อเพื่อบริโภคปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ5 ปี
  • เอ็นพีแอลเพื่อการบริโภคสูงสุดรอบ13 ไตรมาส

นายทศพรศิริสัมพันธ์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่าภาวะสังคมไทยไตรมาส1 ปี2562 ว่าไตรมาสแรกของปีนี้ไทยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น0.9% โดยผู้มีงานทำมีจำนวน37.7 ล้านคนจากจำนวนแรงงานทั้งหมด38.7 ล้านบาทโดยเป็นการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น3.2% ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้น10.5% การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น1% ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลง0.2% และผู้มีงานทำในภาคการเกษตรลดลง4.2% ส่งผลให้อัตราการว่างงานเท่ากับ0.9% หรือคิดจำนวนผู้ว่างงานประมาณ350,000 คนซึ่งถือว่าการว่างงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำอย่างต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มว่าตลาดแรงงานเริ่มตึงตัวมากขึ้นจากจำนวนผู้สมัครงานใกล้เคียงกับจำนวนตำแหน่งงานคิดเป็น0.98 เท่าลดลงจากระดับ1.35 เท่าจากปีก่อน

 สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยสศช.รายงานว่าข้อมูลในไตรมาส4/2561  หนี้ครัวเรือนของไทยเท่ากับ12.8 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้น6% คิดเป็น78.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) โดยแนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่คาดว่ายังไม่ถึงระดับ80% ของจีดีพีจึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนักสำหรับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น10.1% สูงสุดรอบ5 ปีนับตั้งแต่ไตรมาส2/2557 เนื่องจากคนเร่งก่อหนี้ก่อนบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่(LTV) ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ1 เม.ย.2562 และความต้องการรถยนต์มีมากขึ้นเนื่องจากมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ท้องตลาดและมีโปรโมชั่นจากค่ายรถยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ทำให้เกิดแรงจูงใจในการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

สำหรับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมยังคงทรงตัวแต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ขยายตัว9% ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัว9.1% โดยหนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ประมาณ126,356 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วน2.75% ต่อสินเชื่อรวมและคิดเป็นสัดส่วน27.8% ต่อหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคสูงสุดรอบ13 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาส1 ปี2559 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามหนี้ผิดชำระเกิน3 เดือนของบัตรเครดิตลดลง3.6% เทียบกับขยายตัว0.3% ในไตรมาสที่ผ่านมา

นอกจากนี้สศช.ยังแสดงความกังวลด้วยว่าระดับหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี2561 และภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีที่แล้วอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทำให้มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่1.การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงและทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นเนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วน49.9% ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

2.การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆรวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นนอกจากนี้ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้นเช่นการออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูงโดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้(DSR) การออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลงเป็นต้น